โดย…ทนง ขันทอง
หน้าที่หลักของธนาคารกลางคือดูแลเสถียรภาพของราคา โดยมีเป้าหมายของเงินเฟ้อเป็นกรอบอยู่ในใจ หรืออาจจะประกาศออกมาเป็นนโยบายที่เป็นทางการก็ได้ ว่าจะให้เงินเฟ้อเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใดถึงจะเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจมหภาคโดยรวม
ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% โดยจะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้หลุดกรอบนี้ ตัวเลขเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ยกมาจากไหนไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มันดูเหมือนว่ามันเป็นภาระที่ศักดิ์สิทธิ์ของเฟด และธนาคารกลางอื่นๆ ที่ร่วมขบวนในการที่จะต้องปกป้องเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ให้ได้
ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤติปี 2008 เงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัญหา เพราะว่าเศรษฐกิจตกต่ำ แต่มีปัญหาเงินฝืดมากกว่า แม้ว่าจะมีการกดดอกเบี้ยลงระดับ 0% และทำคิวอีเพื่ออัดสภาพคล่องอย่างมโหฬารเข้าไปในระบบการเงินผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ของเอกชนเพื่อปั๊มเศรษฐกิจและดูแลระบบการเงิน เงินเฟ้อก็ไม่มา อย่างน้อยตามตัวเลขของทางการ
เมื่อเงินเฟ้อไม่เป็นภัย หรือไปไม่ถึง 2% เฟดจึงถือโอกาสกดดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินพอดี ซึ่งเกื้อหนุนตลาดหุ้น และสินทรัพย์เสี่ยงเป็นอย่างมาก ก่อนที่จะค่อยๆ ปล่อยให้ดอกเบี้ยปรับอัตราสูงขึ้น รวมท้ังลดปริมาณการทำคิวอีลง แต่พอเกิดการระบาดของโควิด-19 เฟดรีบเร่งกลับมาใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% อีกคร้ังตั้งแต่เดือนมี.ค. ปีที่แล้ว พร้อมกับคิวอี จนในขณะนี้พิมพ์เงินเข้าระบบในอัตรา 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (พันธบัตรรัฐบาล 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตราสารหนี้เอกชน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ท่ามกลางความตกต่ำของเศรษฐกิจที่เกิดจากการชัตดาวน์
อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ออกมาอย่างเร่งด่วนในช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ และอีก 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายปี รวมทั้งอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เพิ่งจะผ่านสภาคองเกรซในสมัยโจ ไบเดน เมื่อเร็วๆ นี้ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัว ทำให้ปีนี้เฟดรายงานว่าเศรษฐกิจซึ่งมีการคงค้างสูงของอุปสงค์จะเติบโตอัตรา 6.5% และอัตราการว่างงานดีขึ้นอยู่ที่ 4.5% ส่วนเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นไปที่ 2.2% ตามความคาดหมายของนักลงทุนที่เริ่มมีความกังวลใจกับเรื่องเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อ 2.2% ในปีนี้จะสูงกว่าเป้าหมาย 2% แต่นายเจโรม พาวเวลล์ ประธานของเฟด ออกมายืนยันในวันพุธที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า จะไม่ปรับนโยบายดอกเบี้ย หรือลดปริมาณการทำคิวอีลงแต่ประการใด โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยไปจนถึงปี 2024 เพราะว่าต้องการมั่นใจว่าเศรษฐกิจและภาวะการจ้างงานมีการฟื้นตัวจริงๆ
นักวิเคราะห์ส่วนมาก เชื่อว่า เงินเฟ้อจะพุ่งสูงกว่านั้น โดยนายเจฟ กุลแล็ค แห่ง DoubleLine Capital เชื่อว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะไปถึง 3% ในเดือน มิ.ย. หรือ ก.ค. ในปีนี้ และหลังจากนั้นจะขึ้นไปถึง 4%
เมื่อเฟดไม่ให้น้ำหนักกับปัญหาของเงินเฟ้อที่จะมีผลกระทบต่ออำนาจซื้อของดอลลาร์สหรัฐ และต้นทุนการผลิต ตลาดการเงินจึงมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่ค่อนข้างรุนแรง ไม่ว่าตลาดหุ้น รวมทั้งตลาดบอนด์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบอนด์ยิลด์อายุ 10 ปี มีการปรับตัวขึ้นจาก 1.64% ในวันพุธ (17 มี.ค.) มาเป็นสู่ระดับ 1.706% ในวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.) ก็คงต้องดูว่าเฟดจะอึดได้อีกนานเพียงใด โดยไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยท่ามกลางแรงกดดันของเงินเฟ้อ ซึ่งเฟดมองว่าในอนาคตจะลงมาสู่ระดับ 2% ในระหว่างนี้ก็ต้องวัดใจกันไปว่าระหว่างตลาดการเงิน และเฟดใครจะกระพริบตาก่อนในเมื่อเงินเฟ้อไม่ได้เป็นเป้าหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ต่อไป