BUALUANG FUND Virtual Investment Insight 2021 (ตอนที่ 3)

BUALUANG FUND Virtual Investment Insight 2021 (ตอนที่ 3)

สรุปความสัมภาษณ์

คุณพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา CFA® ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)
และ
คุณสันติ ธนะนิรันดร์  ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (CIO)

ในตอนนี้เราจะมาขยายความกันต่อถึงโอกาสการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีกันต่อ รวมถึงความน่าสนใจของการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีนด้วย

คำถาม – ภาพการเทขายหุ้นเทคโนโลยีในปีนี้แตกต่างจากการเทขายที่เกิดขึ้นในช่วงฟองสบู่ปี 2000 อย่างไร

คุณสันติ – ตอนนี้ มองมูลค่าหุ้นเทคโนโลยีในตลาด S&P 500 ปีหน้าที่ P/E อยู่ที่ 20 เท่า ขณะที่ช่วงดอทคอม เคยสูงถึง 24 เท่า ซึ่งสูงกว่านี้ ในแง่ของผลกำไรบริษัท ในช่วงดอทคอม ตอนนั้น กลุ่มดอทคอมยังไม่มีกำไร เป็นเพียงการเข้าซื้อเพื่อความหวัง ต่างจากเวลานี้ที่บริษัทเทคโนโลยีมีกำไรแล้ว มี P/E ไม่สูง อย่างเช่น Google ที่มี P/E 30 เท่า หรือ Facebook ที่ P/E ถูกกว่านั้นอีก และเติบโตได้ดี ในช่วงโควิด มีคนโฆษณาผ่านออนไลน์มากขึ้น

โดยรวมแล้ว ถ้าเป็น Big Tech ราคาถือว่า สมเหตุสมผลอยู่ อาจจะตึงตัวบ้าง แต่ไม่แพง แต่ถ้าเป็นหุ้นเทคโนโลยีขนาดเล็กก็จะเหนื่อยหน่อย เพราะปรับขึ้นจากความคาดหวัง ขึ้นอยู่กับความสามารถในการส่งมอบสินค้าจริงว่า ทำได้แค่ไหน โดยที่กำไรยังไม่มี เมื่อมีความผันผวน และ discount rate แพงขึ้น คนก็อาจจะทำกำไรออกมาก่อน

คำถาม – มองตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างไรบ้าง

คุณพีรพงศ์ – ตอนนี้สหรัฐฯ มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วยังมี มาตรการโควิด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ออกมาเสริมจากรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกมาตรการมาก่อนหน้านั้น 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐอีก มีเงินช่วยเหลือ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อเดือน และบางคนก็ได้เงิน 2,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน บางคนก็อาจจะยังไม่ได้นำเงินก้อนนั้นมาใช้ นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมียอดการออม 10% ของจีดีพี ซึ่งถ้าผู้บริโภคสหรัฐฯ กลับมาใช้เงินจริงจัง โดยเฉพาะในส่วนของ 10% ของจีดีพี ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้อีก

คุณสันติ – ถ้ามองในประเด็นสภาพคล่อง นักลงทุนก็คิดอยู่ว่า tapering จะเกิดเมื่อไหร่ ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ มองไปแล้วในระยะข้างหน้า tapering หรือการชะลอการซื้อสินทรัพย์ก็ต้องเกิดขึ้น หรืออาจขายสินทรัพย์ด้วยซ้ำ และอัตราดอกเบี้ยก็ต้องปรับขึ้น แต่ในมุมมองของเรา หลังจากที่เกิด hamburger crisis สหรัฐฯ ก็ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0.5% และซื้อสินทรัพย์ แต่หุ้นก็ปรับตัวขึ้น อาจมีการดึงเงินออกจากหุ้นบ้าง แต่ไม่มาก หรือในปี 2017-2018 ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ หุ้นก็ไม่ได้ปรับตัวลง มาปรับลงจริงๆ ในช่วงที่มีสงครามการค้าในยุคทรัมป์ ซึ่งสุดท้ายแล้ว หุ้นก็กลับขึ้นไป จะเห็นได้ว่า ในแง่นักลงทุน ถ้าดอกเบี้ยไม่ได้ขึ้นแรงเกินไป ก็เชื่อว่า ยังลงทุนในหุ้นอยู่ ซึ่งเวลานี้ ราคาหุ้นก็ไม่ได้แพงเกินไป

คำถาม – มีมุมมองต่อตลาดหุ้นจีนอย่างไร

คุณพีรพงศ์ – ตลาดหุ้นจีน ในช่วงที่ปรับขึ้นก็เหวี่ยงขึ้นเกินจริง ตามความคาดหวัง ซึ่งสภาพที่เป็นอยู่ตอนนั้น ทำให้เกิดการเก็งกำไร ทำให้ทางการจีนต้องการลดความร้อนแรง ทั้งในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ โดยในการประชุม 2 สภา และการประชุมจัดทำแผนระยะ 5 ปี จีนก็ตั้งใจอยู่แล้วที่จะไม่ให้อสังหาริมทรัพย์ร้อนแรง และคุมตลาดหุ้น ดูแลเสถียรภาพการเงิน และยังมีพูดถึงเรื่องการ Go Green ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

การที่หุ้นปรับลงครั้งนี้ ก็สะท้อนว่า ทางการไม่ต้องการให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรเกินควร ซึ่งการปรับตัวเป็นโอกาสที่ดี ในจังหวะไตรมาสที่ 2 นี้ ที่หุ้นลง ก็เป็นโอกาสของการเพิ่มน้ำหนักในการสะสมหุ้นจีนได้

คุณสันติ – วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยบอกไว้ว่า Never bet against America ซึ่งเราก็เห็นด้วย เพราะสหรัฐฯ เป็นผู้นำเทคโนโลยี นวัตกรรม แต่ก็ Never bet against China เช่นกัน เพราะในที่สุดแล้ว จีนก็จะยิ่งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่าสหรัฐฯ เทคโนโลยีก็ยิ่งใหญ่เช่นกัน เพียงแต่ที่ผ่านมา หุ้นจีนขึ้นร้อนแรง ก็ต้องมีการขายทำกำไรออกมาบ้าง โดยหุ้นที่ปรับขึ้นแรง ในกลุ่มที่เกี่ยวกับการบริโภค ก็ถูกทำกำไรออกมา แต่อัตราการเติบโตยังทำได้ดี การบริหารจัดการก็ยังทำได้ดี มีเรื่องราวการเติบโตที่น่าสนใจ

ในส่วนของหุ้นที่มี P/E สูง ก็ปรับลงมา ส่วนหุ้นที่ P/E ต่ำ ก็ปรับขึ้นไป ในภาวะนี้หุ้นจีนถือว่า น่าสนใจ เพราะคนจีนเป็นกลุ่มชนชั้นกลางมากขึ้น มีการบริโภคสินค้า premium เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง