จัดการ RMF ในสภาวะวิกฤตยังไงดี?

จัดการ RMF ในสภาวะวิกฤตยังไงดี?

โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM

ในช่วงนี้ ใครที่กำลังลงทุนอยู่ในกองทุนรวม RMF ประเภทหุ้น  น่าจะกังวลใจเรื่องผลตอบแทนอยู่พอสมควร เพราะต้องยอมรับเลยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงนี้ค่อนข้างที่จะผันผวน ด้วยเหตุผลที่เราทุกคนทราบกันดี นั่นก็คือ  สถานการณ์การแพร่ระบาดของเจ้าโควิด-19 ที่กลับมาระลอกแล้ว ระลอกเล่า ส่งผลให้กองทุนรวม RMF ของเรา  จากที่เคยให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ กลับกลายเป็นติดลบ คำถามก็คือ  เราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไรดี?

คำตอบของคำถามนี้  เริ่มจากการที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เหตุใดกองทุนรวม RMF ของเราจึงติดลบ?  โดยสาเหตุที่ทำให้กองทุนรวม RMF ของเราติดลบ  แน่นอนว่าเป็นเพราะสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้ราคาของหุ้นปรับตัวลดลงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า หลังจากนั้นไม่นานตลาดหุ้นก็เริ่มกลับมาฟื้นตัว  ด้วยแรงขับเคลื่อนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี  นวัตกรรม  และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเทรนด์การลงทุนที่ยังสามารถเติบโตได้  ในช่วงที่ประชาชนโลกต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน และลดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

ดังนั้น  สำหรับใครที่มีการลงทุนในกองทุนรวม RMF  ที่มีนโยบายสอดคล้องกับเทรนด์โลกดังกล่าว  ก็มีโอกาสที่ภาพรวมของพอร์ตลงทุนจะเป็นบวก หรือ ติดลบน้อยลงจากการที่สัดส่วนการลงทุนในส่วนนี้ แต่ถ้าหากเรามีการลงทุนกองทุนรวม RMF ในนโยบายดังกล่าวแล้ว   แต่ทำไมพอร์ตลงทุนยังติดลบเยอะอยู่?  ในส่วนนี้อาจต้องตรวจสอบนิสัยในการลงทุนของเราเองว่าเข้าข่ายดังนี้หรือไม่?

ประเด็นที่ 1 ชอบลงทุนในกองทุน  RMF  ทีละก้อนใหญ่ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่า รอรับโบนัสแล้วค่อยไปลงทุน หรือ ลังเลหาจังหวะการลงทุนไปเรื่อยๆ  หรือ งานยุ่งจนลืมจัดสรรเงินลงทุน  จนทำให้ต้องลงทุนในช่วงวันทำการสุดท้ายไปเลยทั้งก้อนอย่างไม่มีทางเลือก ด้วยเหตุที่ว่า ต้องการลดหย่อนภาษีเงินได้ในปีนั้น โดยนิสัยการลงทุนแบบนี้  จะว่าไปแล้วก็เหมือนการวัดดวง เพราะถ้าบังเอิญว่าวันนั้นราคาต่อหน่วยปรับตัวลดลง  ก็จะได้ของถูกทั้งก้อน (ต้นทุนต่ำล็อตใหญ่) แต่ถ้าไม่มีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้น  แถมยังเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามคือ ราคาต่อหน่วยปรับตัวขึ้นมาเสียเฉยๆ หมายความว่า เราได้ของราคาสูงไปทั้งก้อน ทำให้เวลาที่ราคามีความผันผวน  ปรับตัวลดลง  เราก็จะมีความเสี่ยงที่จะติดลบมากและนานหน่อย

ดังนั้น  สิ่งที่จะแนะนำก็คือ  1) ลงทุนแบบถัวเฉลี่ยทุกเดือนด้วยวิธี DCA เพราะในระยะยาวสามารถให้ต้นทุนเฉลี่ยได้กลางๆ ไม่ถูก ไม่แพง  และอาจแบ่งเงินก้อนส่วนหนึ่งมาถือไว้รอจังหวะการลงทุนเพิ่ม หรือ 2) ทำใจ  เพราะการลงทุนในกองทุน RMF คือการลงทุนระยะยาวจนถึงเกษียณ ซึ่งตามธรรมชาติของการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ในระยะสั้นจะมีความผันผวน  แต่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว

ประเด็นที่ 2  เข้าใจว่ากองทุนรวม RMF  ต้องซื้อกองทุนรวมเดิมต่อเนื่องจนครบเงื่อนไข ในส่วนนี้เป็นความเข้าใจผิด ดังนั้น  ถ้าก่อนหน้านี้เราลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนไม่สอดคล้องกับเทรนด์ในปัจจุบันและอนาคต ก็สามารถทำได้  2  แนวทางคือ  1) เงินใหม่ที่จะลงทุนในปีนี้  ให้เลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนสอดคล้องกับเทรนด์ในปัจจุบันและอนาคต   และ/หรือ 2) สับเปลี่ยนเงินลงทุนในกองทุนรวม RMF เดิม  มาไว้ในกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนสอดคล้องกับเทรนด์ในปัจจุบันและอนาคต โดยการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไม่นับว่าเป็นการขายคืนก่อนเงื่อนไข  ดังนั้น กองทุนจะนับอายุการถือครองหน่วยลงทุนต่อให้ (ไม่เริ่มนับหนึ่งใหม่) ซึ่งกรณีสับเปลี่ยนกองทุนรวม RMF ภายใต้การบริหารของกองทุนบัวหลวง   ขาสับเปลี่ยนออกจากกองทุนเดิมจะใช้ราคารับซื้อคืน  ซึ่งเป็นราคาเดียวกันกับราคา NAV ไม่มีค่าธรรมเนียมอื่นเพิ่ม  ในส่วนของขาสับเปลี่ยนเข้ากองทุนใหม่จะใช้ราคาขาย  ซึ่งบวกส่วนต่างจากราคา NAV ทศนิยมที่สี่ 1 ตำแหน่ง

ประเด็นที่ 3  เราสามารถจัดพอร์ตกองทุนรวม RMF  ได้ โดยเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการลงทุนในกองทุนรวม RMF เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ     บางคนเริ่มลงทุนเร็วก็มีระยะเวลาลงทุนนานถึง 20 ปี บางคนเริ่มลงทุนช้าก็มีระยะเวลาลงทุน 10 ปี 5 ปีก็ว่ากันไป ดังนั้น ในการจัดพอร์ตการลงทุนตามหลักการแล้ว   ระยะเวลาลงทุนมากกว่า 10 ปี  สามารถลงทุนในนโยลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้ในสัดส่วนที่มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีระยะเวลาลงทุนน้อยกว่า 5 ปี และนอกเหนือจากเรื่องระยะเวลาในการลงทุนแล้ว การลงทุนในกองทุนรวม RMF ก็เหมือนกับการลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่นๆ ตรงที่ต้องเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงด้วย