โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPT™
กองทุนบัวหลวง
ถ้าพูดถึงการลงทุนในกองทุนรวม เชื่อว่า ทุกคนคงคุ้นเคยกับกองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวมหุ้น เป็นอย่างดี โดยวัยเริ่มต้นทำงานอย่างเรา อาจมีเงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก ทำให้ในแต่ละเดือนต้องแบ่งเงินลงทุนสลับกันไปมา เดือนนี้ ตราสารหนี้ เดือนหน้า หุ้น เดือนนู้นเป็นอสังหาฯ จะจัดพอร์ตลงทุนเหมือนคนอื่นก็ทำได้ลำบาก
วิธีนี้จะว่าดีก็ไม่เชิง จะว่าไม่ดีก็ไม่ใช่ เพราะในส่วนที่ว่า “ดี” ก็คือ มีการกระจายการลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ถือว่า เป็นการกระจายความเสี่ยง แต่อีกมุมหนึ่ง การที่แบ่งเงินลงทุนสลับกันไปมา นั่นหมายความว่า ความสม่ำเสมอในการลงทุนแต่ละกองทุนนั้นไม่มีเลย เพราะเดือนนี้ซื้อ เดือนหน้าไม่ซื้อ หรือบางทีเดือนหน้า ตามคิวแล้วต้องซื้อกองทุนนี้ แต่ถึงเวลา อุ้ย! ไม่เอาดีกว่า ไปซื้ออีกกองทุนแล้วกัน
การลงทุนแบบนี้ ต้องยอมรับเลยว่า จัดพอร์ตการลงทุนให้อยู่กับร่องกับรอยและเป็นไปตามเป้าหมายได้ค่อนข้างยาก เพราะมีเรื่องของการใช้อารมณ์เข้ามาร่วมตัดสินใจลงทุนในทุกครั้ง และด้วยการสลับลงทุนในกองทุนรวมนั้นที กองทุนรวมนี้ที แน่นอนว่า สัดส่วนในการลงทุนของแต่ละสินทรัพย์ เบ้ไป เบ้มา เดี๋ยวตราสารหนี้เยอะ เดี๋ยวหุ้นเยอะ ปวดหัวไปหมด
เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการลงทุนในกองทุนรวมผสม โดยกองทุนรวมผสม หรือ Mixed Fund คือ กองทุนรวมที่นโยบายลงทุนเขียนไว้ว่า สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้มากกว่า 1 อย่าง ซึ่งนโยบายการลงทุน จะเขียนกรอบในการลงทุนไว้ว่า ผู้จัดการกองทุน สามารถลงทุนในสินทรัพย์อะไรได้บ้าง? ดังนั้น กองทุนรวมผสมแต่ละกองทุนก็จะแตกต่างกันไป
บางกองทุนอาจกำหนดกรอบเอาไว้ว่า สามารถลงทุนตราสารหนี้ในประเทศและหุ้นไทยเท่านั้น แต่บางกองทุน อาจลงทุนตราสารหนี้ได้ทั้งในและต่างประเทศ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อสังหาฯ รวมถึงทองคำ
นอกจากนี้ นโยบายลงทุนของกองทุนผสมบางกองทุน อาจจำกัดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ แต่ละประเภทไว้ด้วย เช่น ลงทุนในตราสารหนี้อย่างน้อย 70% ส่วนที่เหลือเป็นสินทรัพย์อื่นๆ แล้วแต่ดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน หรือบางครั้งอาจกำหนดแค่ประเภทสินทรัพย์ เช่น ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ และหุ้นไทย โดยสัดส่วนการลงทุนสินทรัพย์ไหนมาก สินทรัพย์ไหนน้อย ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน
ดังนั้น ย้ำอยู่เสมอว่า เราในฐานะผู้ลงทุนและเจ้าของเงิน จำเป็นต้องศึกษานโยบายลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง โดยเฉพาะกองทุนรวมผสม นโยบายลงทุนส่วนใหญ่ มักจะเขียนกว้างๆ มีช่องยืดหยุ่นไว้ เพื่อเป็นการง่ายสำหรับการบริหารเงินของผู้จัดการกองทุน
เพื่อให้เรามั่นใจ และรู้ว่ากองทุนรวมผสมนี้ เน้นการลงทุนในสินทรัพย์อะไรกันแน่! นอกเหนือจากอ่านนโยบายกองทุนแล้ว แนะนำให้ดูเอกสารสรุปรายเดือน ซึ่ง บลจ. แต่ละแห่ง ก็จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น Monthly Fund Update / Fact sheet หรือบางที่อาจเรียกว่า One Page ชื่อใดๆ ก็แล้วแต่! ข้อมูลที่อยากให้ทุกคนสนใจ คือ พอร์ตการลงทุนของกองทุนผสมนั้นๆ เพื่อดูว่า ผู้จัดการกองทุน ให้น้ำหนักเงินลงทุนส่วนใหญ่ไปในสินทรัพย์อะไร เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจ นโยบายการลงทุน รวมถึงความเสี่ยงของกองทุนรวมผสมที่เรากำลังเล็งไว้ให้มากขึ้น
โดยสรุปก็คือ สำหรับผู้ลงทุนที่มีเงินลงทุนในแต่ละเดือนไม่มาก และต้องการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงในการใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว รวมถึงต้องการจัดพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมาย และความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ การลงทุนในกองทุนรวมผสม เป็นทางเลือกที่ดี เพราะสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายได้ในคราวเดียวกัน
ขออวยพรให้ทุกคนสนุก และประสบความสำเร็จในการลงทุนค่ะ