BF Economic Research
- การส่งออกเดือน เม.ย. 2021 มีมูลค่า 21,429.27 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 13.09% YoY (vs. prev. 8.5% ) เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยแล้ว การส่งออกขยายตัว 25.70%YoY
- ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 21,246.79 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 29.79% YoY (vs. prev. 14.1%) ส่งผลให้เกินดุลการค้า 182.48 ล้านดอลลาร์ฯ (vs. prev. 710.8 ล้านดอลลาร์ฯ)
- สำหรับภาพรวมในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 85,577.30 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 4.78% YTD YoY และการนำเข้ามีมูลค่ารวม 84,879.16 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 13.85% YTD YoY ส่งผลให้เกินดุลการค้า 698.14 ล้านดอลลาร์ฯ YTD
รายสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่
1.) สินค้าเกษตรและอาหาร เป็นสินค้าที่มีการขยายตัวดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ผักและผลไม้ ไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร
2.) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวเกือบทุกรายการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์
3.) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
4.) กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตเริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า
5.) สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ)
รายสินค้าที่หดตัว ได้แก่
1.) ข้าว เนื่องจากไทยประสบปัญหาผลิตภาพต่ำ และต้นทุนสูง ส่งผลให้ข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันในด้านราคาได้ โดยราคาข้าวไทยยังสูงกว่าคู่แข่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอินเดีย ที่มีราคาข้าวขาวและข้าวนึ่งต่ำสุดในตลาด
2.) น้ำตาลทราย เนื่องจากปริมาณอ้อยของไทยลดลงต่อเนื่อง จากปัญหาภัยแล้งรุนแรง และราคาตกต่ำ รวมทั้งราคาน้ำตาลทรายมีทิศทางลดลง, อาหารทะเล แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศที่ดีขึ้น จึงทำให้มีการกักตุนสินค้าน้อยลง
3.) นอกจากนี้ สินค้าประเภทเครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์รักษาผิว, แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า, เครื่องส่งวิทยุโทรเลข โทรศัพท์ โทรทัศน์ ได้กลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากขยายตัวต่อเนื่องกันมาหลายเดือน
ด้านตลาดส่งออกนั้น พบว่าการส่งออกไปตลาดสำคัญขยายตัวเกือบทุกตลาด และหลายตลาดขยายตัวในระดับสูง สอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการค้าโลก รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามความคืบหน้าในการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศคู่ค้า ประกอบกับแรงสนับสนุนจากการใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยการส่งออกไปตลาดหลัก (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป) ขยายตัวได้ 15.8% ตลาดศักยภาพสูง (อาเซียน จีน เอเชียใต้) ขยายตัว 18.8% และตลาดศักยภาพระดับรอง (ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง กลุ่ม CIS) ขยายตัว 47.8%
สำหรับการนำเข้าสินค้าของไทยในเดือนเม.ย. 21 พบว่าการนำเข้าขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 29.79% คิดเป็นมูลค่า 21,246 ล้านดอลลาร์ จากผลของการนำเข้าสินค้าสำคัญใน 5 กลุ่มแรก คือ สินค้าเชื้อเพลิง ขยายตัว 45.11% โดยเฉพาะน้ำมันดิบ สินค้าทุน ขยายตัว 18.61% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ขยายตัว 29.09% สินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัว 40.83% และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ขยายตัว 27.48% โดยแหล่งนำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, สหรัฐฯ และเกาหลีใต้
กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกไทยในระยะต่อไปว่า คาดว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจาก
1.) การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเกือบทุกหมวดสินค้า
2.) การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวตามราคาส่งออก และความต้องการจากประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น
3.) แผนการกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีความหลากหลาย เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นด้านการผลิตและการบริโภค