ดัชนีชี้ภาวะเศรษฐกิจ                 

ดัชนีชี้ภาวะเศรษฐกิจ                 

By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์

BF Knowledge Center

ที่มา: ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ภาครัฐและเอกชน เฝ้าติดตาม คือการรายงานภาวะเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ฯ (คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลและจัดทำเป็นรายไตรมาส โดยจะรายงานให้สาธารณะทราบหลังจากสิ้นสุดไตรมาสแล้วเกือบ 2 เดือน นั่นคือเกือบสิ้นไตรมาสถัดไป ถึงแม้จะเป็นข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องและเป็นทางการ แต่มีข้อด้อยที่มีความล่าช้าและความถึ่ในการรายงาน ประชาชน นักลงทุนและภาคธุรกิจอาจปรับตัวได้ไม่ทัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) จึงจัดทำดัชนีชี้วัดที่แสดงภาวะเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ที่สามารถรวบรวมและนำเสนอข้อมูลได้เร็วกว่าและมีความถึ่มากกว่าเพื่อให้ภาครัฐและเอกชนได้ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจ โดย ธปท จะรายงานข้อมูลเป็นรายเดือน แต่ใช้ข้อมูลเฉพาะที่มีการจัดเก็บเป็นรายเดือน ข้อดีคือสามารถรายงานข้อมูลได้ถี่กว่าและเร็วกว่า  แต่ข้อมูลจะไม่ครบถ้วนและสมบูรณ์เท่ารายงานของสภาพัฒน์ฯ ดัชนีที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีการอุปโภคบริโภคและดัชนีการลงทุนภาคเอกชน

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Index : PCI) เป็นดัชนีชี้ภาวะอุปสงค์ภายในประเทศที่สำคัญตัวหนึ่ง โดย PCI เป็นตัวชี้ทิศทางการอุปโภคบริโภคหรือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ภาคธุรกิจ และรวมถึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งแสดงถึงกำลังซื้อโดยรวมของภาคเอกชน ข้อมูลที่ใช้ประกอบ ได้แก่ การใช้จ่ายสินค้าไม่คงทน (ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภครายวัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ ปริมาณการใช้น้ำมันและใช้ไฟฟ้าครัวเรือน)  การใช้จ่ายสินค้ากึ่งคงทน (ยอดค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทน ปริมาณการนำเข้าสิ่งทอ) การใช้จ่ายสินค้าคงทน (ยอดขายรถยนต์ ยอดจดทะเบียนจักรยานยนต์) การใช้จ่ายภาคบริการ (ภาษีมูลค่าเพิ่มโรงแรมและภัตตาคาร ยอดขายบริการคมนาคมและขนส่ง) และ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว

ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Index : PII) เป็นดัชนีชี้ภาวะอุปสงค์ภายในประเทศที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่ชี้ทิศทางการลงทุนของภาคธุรกิจ โดยมีองค์ประกอบ 5 รายการ ได้แก่ พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ปริมาณจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง (ปูนซีเมนต์ คอนกรีต กระเบื้อง) การนำเข้าสินค้าทุน ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักร/อุปกรณ์ในประเทศ ปริมาณจำหน่ายยานยนต์เพื่อการลงทุน เป็นช้อมูลกิจกรรมบางประเภทที่สามารถจัดเก็บได้รวดเร็วและคัดเลือกแล้วว่าเป็นตัวแทน (proxy) ที่ชี้สภาวะการขยายตัวหรือหดตัวของการลงทุนโดยภาคเอกชนหรือธุรกิจได้อย่างมีนัยยะสำคัญ