BF Economic Review ครึ่งปีหลังปี 2021

BF Economic Review ครึ่งปีหลังปี 2021

BF Economic Research

Core Macro Theme

อัตราเร่งฉีดวัคซีนของแต่ละประเทศมีผลต่อเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบาย

สำหรับในไตรมาสนี้ เราจะเห็นว่ามีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายในประเด็นเรื่อง COVID-19 เริ่มจากด้านสหรัฐฯ ด้วยความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนทำให้หลายรัฐกำลังจะกลับมาเปิดเมืองอีกครั้งในช่วงฤดูร้อนนี้ (เริ่มเดือน มิ.ย. เป็นต้นไป) ในทางตรงกันข้าม หลายประเทศทางฝั่งเอเชียและกลุ่มตลาดเกิดใหม่กลับยังเผชิญกับการแพร่ระบาดอยู่ อาทิ ไทย และอินเดีย ซึ่งความต่างกันเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนในระยะข้างหน้า ในขณะที่ เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่กำลังพยายามควบคุมการระบาดอยู่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเริ่มที่จะเจรจาแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว รวมถึงแผนการปรับขึ้นภาษีเพื่อนำมาใช้สนับสนุนโครงการลงทุนดังกล่าวด้วย

การแพร่ระบาดของ COVID-19: ความท้าทายที่ประเทศตลาดเกิดใหม่กำลังเผชิญ

ขณะที่เราทราบข่าวดีมากมายในบางประเทศเกี่ยวกับความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอาทิเช่นสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และอิสราเอล ได้สะท้อนให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ โดยสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลและอัตราการตายต่างอยู่ในระดับต่ำ

กระนั้น กลุ่มตลาดเกิดใหม่กลับไม่ได้ฉายภาพเดียวกัน โดยประเทศส่วนใหญ่มีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากร (อย่างน้อย 1 ครั้ง) ไม่ถึง 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งการจัดหาวัคซีนและการขนส่งนับเป็นอุปสรรคหลัก ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีการระบาดระลอกใหม่ทั้งในละตินอเมริกา (อาร์เจนตินา บราซิล และโคลอมเบีย) กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในยุโรป (ตุรกี) และเอเชีย (อินเดีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และไทย) ขณะที่สถานการณ์ในอินเดียนั้นนับว่าค่อนข้างน่ากังวล จากจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 4 แสนคนต่อวันในช่วงวันที่ 1 พ.ค.ผนวกกับภาวะขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์  ซึ่งนอกจากจะก่อความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพแล้ว เศรษฐกิจก็เผชิญแรงกดดันอีกครั้งหลังรัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ในบางรัฐ ดังนั้น การทยอยฟื้นตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่เพื่อให้ตามทันประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อาจจะต้องช้าออกไปจนกว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นกว่าในปัจจุบัน

เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นทำให้ตลาดมีความกังวล

กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่กลับมาดำเนินการได้ปกติในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วอย่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าในประเทศพุ่งสูงขึ้น และทำให้การส่งออกทั่วโลกขยายตัวได้ดี และด้วยผลของปัญหาด้านการขนส่ง (อาทิ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และเซมิคอนดักเตอร์  เรือสินค้าเกยตื้นขวางคลองสุเอซ และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น) ผนวกกับการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤต COVID-19 และนโยบายที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจสีเขียวใส่ใจสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเร่งสูงขึ้น

001.jpg

ที่มา: Bloomberg รวบรวมโดยกองทุนบัวหลวง

ราคาสินแร่เหล็ก (Iron Ore) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเหล็กกล้า แพลเลเดียมที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องฟอกไอเสียในรถยนต์ และไม้แปรรูปต่างพุ่งขึ้นแตะระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ด้านสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ  ธัญพืช เมล็ดพืชน้ำมัน น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากนมก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาข้าวโพดปรับตัวขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 7 ดอลลาร์ฯ ต่อบุชเชล (น้ำหนักประมาณ 25.4 กก.) เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น เนื่องจากสินค้าดังกล่าวข้างต้นนับเป็นรายการสินค้าสำคัญในตะกร้าเงินเฟ้อของหลายประเทศ

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนับเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการบริหารเงินลงทุน โดยทั่วไป อัตราเงินเฟ้อมักจะมีผลเชิงลบต่อการลงทุนในตราสารหนี้ เนื่องจากเมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้นจะทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริงของตราสารหนี้ (Real Yield) ปรับตัวลดลง จากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่อยู่ในระดับต่ำตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารกลางยังคงให้อยู่ในระดับต่ำ สำหรับตลาดทุน ผลของเงินเฟ้อต่อตราสารทุนจะขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการส่งผ่านราคาต้นทุนที่สูงขึ้นไปสู่ผู้บริโภค นอกจากนั้น ผลกระทบของเงินเฟ้อต่อผลตอบแทนการลงทุนขึ้นกับว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมานั้นจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวหรือจะเป็นการปรับขึ้นอย่างถาวร ซึ่งกว่าจะทราบผลก็ต้องรอให้ผลของฐานต่ำในปีนี้สิ้นสุดลง

ความท้าทายของการดำเนินนโยบายในระยะข้างหน้า

ในขณะที่นักลงทุนเกิดความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ธนาคารกลางก็มีความพยายามอย่างมากในการคลายความกังวลดังกล่าว ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ Fed ได้ออกมากล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อนั้นเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมองว่าจะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ด้านธนาคารกลางจีน (PBoC) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อผู้ผลิต (PPI) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 2/2021 และ 3/2021 จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน แร่เหล็ก และทองแดง แต่มองว่าผลกระทบยังไม่น่ากังวล เนื่องจากเป็นการเพิ่มขึ้นจาก 1) ฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว และ 2) ภาวะขาดแคลนสินค้าที่เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

แม้ว่าธนาคารกลางหลักของโลกอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไว้ตามเดิม แต่ธนาคารกลางบางแห่งทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายเป็นแบบตึงตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางแคนาดา (BoC) ที่ส่งสัญญาณว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในปีหน้า (BoC ประกาศว่าจะลดการเข้าซื้อพันธบัตรลงเหลือสัปดาห์ละ 3 พันล้านดอลลาร์แคนาดา จากเดิม 4 พันล้านดอลลาร์แคนาดา โดยเริ่มวันที่ 26 เม.ย.)  ธนาคารกลางออสเตรเลียกำหนดให้เดือนก.ค. นี้เป็น Deadline ที่จะตัดสินใจว่าจะลดการเข้าซื้อพันธบัตรหรือไม่ ขณะที่ธนาคารกลางนอร์เวย์กำลังเริ่มเปลี่ยนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น ด้านประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ มีบางประเทศที่เปลี่ยนทิศทางนโยบายอย่างรวดเร็ว อาทิ ธนาคารกลางฮังการีที่กล่าวเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ว่ามีความพร้อมในการใช้มาตรการทางการเงินแบบตึงตัวแล้ว ส่วนรัสเซีย ตุรกี และบราซิลได้มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ โดยความแตกต่างของทิศทางนโยบายการเงินเช่นนี้สะท้อนว่าแต่ละธนาคารกลางสามารถรับมือกับการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและมีหน้าตักสำหรับการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน

นอกจากการดำเนินนโยบายการเงินแล้ว การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นก็มักจะมาพร้อมกับความท้าทายด้านวินัยทางการคลังด้วย อาทิ รัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีการใช้งบประมาณไปราว 29% ของ GDP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่กำหนดเวลาการเจรจาปรับเพดานหนี้กำลังใกล้เข้ามา ฝั่งอินเดียกำลังเตรียมอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และในขณะที่รัฐบาลไต้หวันกำลังพิจารณาเพิ่มวงเงินมาตรการกระตุ้นเป็น 6.3 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน (2.26 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ) หรือเพิ่มขึ้นราว 50% ของวงเงินปัจจุบัน ฝั่งรัฐบาลไทยเองก็ประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉินกู้เงิน 5 แสนล้านบาท (1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ) ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาจากการระบาดของ COVID-19

ทั้งนี้ วินัยทางการคลังอาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับไต้หวันที่มีหนี้สาธารณะเพียง 32% ของ GDP เนื่องจากรัฐบาลยังสามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้อีกถึงเพดานที่กำหนดไว้ตามกฎหมายที่ 40.6% แต่สำหรับในประเทศไทยที่รัฐบาลกู้เงินจนเกือบแตะเพดานหนี้ที่ระดับ 60% ของ GDP แล้ว การแก้ไขพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 นั้นมีความจำเป็นเพื่อเพิ่มความสามารถในการกู้เงินของรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตามเนื่องด้วย สภาพคล่องในประเทศ ณ ปัจจุบัน มีอยู่ราว 3 แสนล้านบาท (ข้อมูลจาก Bangkok Post ณ วันที่ 27 พ.ค.)  ทำให้ยังมีส่วนต่าง (Funding Gap) อยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท สภาพคล่องในตลาดที่ไม่เพียงพออาจจะสร้างความกังวลให้กับรัฐบาลไทยในระยะข้างหน้า อีกทั้งประสิทธิภาพในการใช้จ่ายของภาครัฐสู่ภาคเศรษฐกิจก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความใส่ใจ เพราะหากพิจารณาอ้างอิงจากการใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่างบประมาณส่วนใหญ่ได้ใช้จ่ายไปกับโครงการที่ให้ผลทวีคูณเชิงเศรษฐกิจที่จำกัด (Limited Multiplier Effects)

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวม เรามองว่า ท่ามกลางความท้าทายทั้งหลาย เศรษฐกิจทั่วโลกยังสามารถเติบโตได้จากปีก่อน ผ่านการปรับตัวในการดำเนินชีวิตและจับจ่ายใช้สอย แม้ผู้คนจะลดการออกจากบ้านลงก็ตาม แต่การใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เราคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 5.8% โดยเป็นผลจากการเติบโตในระดับสูงของสหรัฐฯ ที่ 6.0% ในส่วนของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอื่นๆ อย่างยูโรโซน และญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มขยายตัวที่ 4.3% และ 2.4% ตามลำดับ ด้านเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวขึ้นมา เราคาดว่าจะเติบโตได้ 8.0% ในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 ในขณะที่อินเดียและไทย ซึ่งกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอีกระลอกหนึ่ง GDP น่าจะเติบโตที่ 8.5% และ 2.0% ตามลำดับ

ประมาณการ GDP ปี 2021

002.jpg

ที่มา: IMF ประมาณการโดยกองทุนบัวหลวง

ท่านสามารถติดตามรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่นี่ 2H2021 BF Economic Review