เว็บไซต์ของสภาเศรษฐกิจโลก (weforum.org) รายงานว่า มีคนประมาณ 4,600 ล้านคนทั่วโลกที่ใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน และพบว่ามีการทวีตข้อความ 350,000 ครั้งในทุกนาที ซึ่งการใช้อินเทอร์เน็ตแต่ละครั้งทำให้เซิร์ฟเวอร์ต้องทำงานหนักในการเก็บข้อมูลที่มีมหาศาล ส่งผลให้เกิดการปล่อยมลพิษตามมา ขณะที่ทุกวันนี้ มีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 30,000 ล้านชิ้น ครอบคลุมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล สมาร์ทโฟน โทรทัศน์ แท็บเล็ต บ้านอัจฉริยะ ยานพาหนะอัจฉริยะ และนาฬิกาอัจฉริยะ เป็นต้น ทั้งนี้แม้จะมีเทคโนโลยีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่มีส่วนสำคัญในการใช้พลังงานสะอาด เช่น มาตรวัดอัจฉริยะในบ้านช่วยตรวจสอบและลดการใช้พลังงานในครัวเรือนได้ แต่การจัดเก็บข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ใช้พลังงานเพิ่มเช่นกัน
มีงานวิจัยคาดการณ์ว่า ในปี 2025 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) อาจมีส่วนใช้พลังงานถึง 20% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ และอาจปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 5.5% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนในโลก ซึ่งมากกว่าเมื่อนำการปล่อยมลภาวะทั้งหมดของ จีน อินเดีย และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดรวมกัน โดยการเติบโตของการใช้พลังงานกลุ่มไอทีมาจากศูนย์ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดเก็บข้อมูลและคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ที่ส่วนใหญ่มักต่อสายตรงกับโครงข่ายไฟฟ้าท้องถิ่น หมายความว่า ส่วนใหญ่ใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ไม่หมุนเวียน
ประมาณ 50% ของศูนย์ข้อมูลมีขนาดใหญ่มากๆ มีเซิร์ฟเวอร์มากกว่า 5,000 เครื่อง โดยทั่วไปศูนย์ขนาดใหญ่กว่า 1,000 ตารางเมตร ผู้ที่ใช้งานเป็นผู้เล่นหลัก เช่น ไมโครซอฟท์ อะซัวร์ กูเกิล คลาวด์ หรือ อเมซอน เว็บ เซอร์วิส ซึ่งเป็นเจ้าของเซิร์ฟเวอร์ 5.8% ของเว็บไซต์ทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตามศูนย์ข้อมูลกำลังพยายามลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอยู่ โดยกูเกิลประกาศเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน 24 ชั่วโมงทุกวันในศูนย์ข้อมูลของตัวเองภายในปี 2030 ศูนย์แห่งแรกใกล้ลาสเวกัสดำเนินการไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา และหากต้องการให้ศูนย์ใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเดียว การตั้งศูนย์ก็ต้องเลือกบริเวณที่มีลมแรง แสงอาทิย์ หรือความร้อนใต้พื้นดิน หรือแหล่งน้ำที่ผลิตไฟฟ้าได้