ผู้เชี่ยวชาญหนุนใช้วิธีย่อยสลายทางชีวภาพเพื่อการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ยั่งยืน

ผู้เชี่ยวชาญหนุนใช้วิธีย่อยสลายทางชีวภาพเพื่อการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ยั่งยืน

เว็บไซต์สภาเศรษฐกิจโลก (weforum.org) เผยแพร่บทความเรื่องอะไรคือการย่อยสลายทางชีวภาพ และการทำให้แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีความยั่งยืนมากขึ้น โดยระบุว่า ทุกวันนี้มีรถยนต์กว่า 1,400 ล้านคันทั่วโลก ตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็นเท่าตัวภายในปี 2036 และถ้ารถยนต์ยังใช้น้ำมันเบนซินหรือดีเซล จะพบผลกระทบจากสภาพอากาศที่เลวร้าย การใช้รถยนต์ไฟฟ้าทดแทนจะช่วยลดมลพิษในอากาศได้ แต่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้โลหะหลายอย่างในแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งบางอย่างหาได้ยาก และการหามาก็อาจไปทำลายระบบนิเวศหรือคุกคามคนในท้องถิ่นด้วย

ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากำลังหาทางหาแหล่งวัตถุดิบที่เชื่อถือได้อยู่ ส่วนผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจะนำโลหะที่เคยใช้แล้วในแบตเตอรี่ที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้วเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ ใช้จุลินทรีย์ในการไปทำปฏิกิริยาออกซิไดซ์โลหะได้ ซึ่งจะทำให้ในอนาคตมีการหมุนเวียน นำกลับมาใช้ใหม่ได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดวงจรแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีอายุใช้งาน 8-10 ปี ปัจจุบันแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนถูกนำมารีไซเคิลใช้ใหม่น้อยกว่า 5% ในสหภาพยุโรป แทนที่จะขุดหาโลหะใหม่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าทำไมไม่นำโลหะจากแบตเตอรี่ที่เคยใช้งานแล้วกลับมาใช้งานอีก โดยตลาดรีไซเคิลโลหะทั่วโลกคาดว่าจะโตจาก 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 เป็น 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 แต่ถ้าไม่มีวิธีรีไซเคิลที่ใช้พลังงานน้อยกว่านี้ อุตสาหกรรมนี้อาจทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแย่ลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า สามารถใช้วิธีการย่อยสลายทางชีวภาพกับโลหะจากขยะได้ โดยวิธีนี้ใช้มานับทศวรรษแล้ว เป็นการใช้ในวงกว้างในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งเรานำเทคนิคนี้มาใช้ในการทำความสะอาดและกู้คืนวัสดุจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้

กลุ่มนักวิจัยด้านการย่อยสลายทางชีวภาพของมหาวิทยาลัย Coventry พบว่า โลหะทุกอย่างในแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ากู้คืนได้ด้วยการย่อยสลายทางชีวภาพด้วยแบคทีเรีย ซึ่งไม่ต้องใช้อุณหภูมิสูงหรือสารเคมีที่พิเศษ โดยขณะนี้กำลังเดินหน้าเรื่องการย่อยสลายทางชีวภาพเพื่อหยุดการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปพร้อมกับการเติมเต็มในห่วงโซ่อุปทานอยู่