BF Economic Research
การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 8.50 แสนตำแหน่ง มากที่สุดในรอบ 10 เดือน และดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 7.20 แสนตำแหน่ง ขณะที่ตัวเลขเดือนก่อนถูกปรับเพิ่มขึ้น 2.4 หมื่นตำแหน่ง เป็น 5.83 แสนตำแหน่ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 พบว่ายังมีตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ราว -6.8 ล้านตำแหน่ง
- ในรายองค์ประกอบพบว่า การจ้างงานยังเพิ่มขึ้นโดยหลักในหมวดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ได้แก่ การโรงแรมและพักผ่อน (+3.43 แสนตำแหน่ง), การจ้างงานภาคการศึกษา (+2.68 แสนตำแหน่ง), ค้าปลีก (+6.7 หมื่นตำแหน่ง) และการบริการอื่นๆ เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ (+5.6 หมื่นตำแหน่ง)
- ด้านการจ้างงานภาคก่อสร้างลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (-7.0 พันตำแหน่ง vs. -2.2 หมื่นตำแหน่งเดือนก่อน) และการจ้างงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ลดลง -1.2 หมื่นตำแหน่ง (vs. +2.3 หมื่นตำแหน่งเดือนก่อน) จากปัญหาขาดแคลนชิปที่กระทบการผลิต
- อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 5.9% (vs. 5.8% ในเดือนก่อน) สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะปรับลดลงเป็น 5.6% โดยเป็นผลจากที่มีแรงงานว่างงานเพิ่มขึ้น (+1.6 แสนราย) ขณะที่มีแรงงานกลับเข้ามาหางานในตลาดแรงงานเพิ่มเติมจากเดือนก่อน (+1.5 แสนราย)
- โดยแรงงานว่างงานชั่วคราว (Temporary) ลดลง 1.2 หมื่นราย เป็น 1.81 ล้านราย ส่วนแรงงานว่างงานถาวร (Permanent) ลดลง 4.7 หมื่นราย เป็น 3.19 ล้านราย
- อัตราค่าจ้างแรงงาน (Average Hourly Earnings) เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 0.3% MoM เท่ากับที่ตลาดคาด ต่อเนื่องจาก 0.4% ในเดือนก่อน โดยอัตราค่าจ้างในเดือนนี้เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะบริการขนส่งและคลังสินค้า (1.8% MoM) และการโรงแรมและพักผ่อน (1.0%) โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราค่าจ้างแรงงานขยายตัว 3.6% YoY (vs. 1.9% เดือนก่อน)
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังคงกดดันภาคการผลิตและสะท้อนไปยังการชะลอลงของ Capacity Utilization การใช้กําลังการผลิตเนื่องจากหลายบริษัท ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคการผลิตเท่านั้น ภาคการบริการและการโรงแรมก็ประสบภาวะขาดแคลนแรงงานเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้ต่ำในภาคบริการ ทั้งนี้ค่าจ้างแรงงานได้เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยสูงกว่าก่อน COVID-19 ราว 8.6% (30.4 ดอลลาร์ฯ/ชั่วโมง vs. เฉลี่ยปี 2019 ที่ราว 28 ดอลลาร์ฯ/ชั่วโมง)