ASEAN THIS MONTH (March-April 2018)
อินโดนีเซีย
อัตราเงินเฟ้ออินโดนีเซียชะลอลงในเดือนก.พ. มาอยู่ที่ +3.18% YoY จาก +3.25% YoY ในเดือนม.ค. เนื่องมาจากราคาอาหารบางรายการ อาทิ เนื้อไก่ ผักสด และพริกลดลง ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนก.พ. ที่หักราคาอาหารสดแล้วขยายตัว +2.58% YoY น้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ +2.69% YoY ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในปี 2018 ที่ 2.5-4.5%
สิงคโปร์
การส่งออกสินค้าไม่รวมน้ำมันของสิงคโปร์ (NODX) หดตัวลงถึง -5.9% YoY ในเดือน ก.พ. 2018 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะขยายตัวได้ +4.8% YoY หากแยกออกเป็นหมวดหลักๆ จะสังเกตได้ว่ายอดการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ย่อลง -12.3% YoY จากการหดตัว -3.9% YoY ในเดือนก่อน ในทำนองเดียวกันสินค้าอื่นที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์ (Non-electronics) ก็กลับมาปรับตัวลง -3.4% YoY จากที่เคยทะยานขึ้นถึง +20.7% YoY ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นผลกระทบโดยตรงจากวันหยุดตรุษจีน ซึ่งปีก่อนหน้ามีขึ้นในเดือน ม.ค. แต่สำหรับปี 2018 นั้นอยู่ในเดือน ก.พ. เนื่องจากประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกหลักของผู้ผลิตสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี ตลาดคาดไว้ว่าก่อนแล้วว่าการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มชะลอลงจากปี 2017 ที่เติบโตสูงถึง +9.2% นับว่ารวดเร็วที่สุดตั้งแต่ปี 2010 จึงเป็นประเด็นที่น่าจะเข้ามากดดันอัตราการเติบโตโดยรวมของเศรษฐกิจสิงคโปร์บ้างในปีนี้
ฟิลิปปินส์
ยอดเงินส่งกลับภูมิลำเนาของแรงงานฟิลิปปินส์โพ้นทะเล (OFW Cash Remittances) เดือน ม.ค. 2018 อยู่ที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้น +9.7% YoY แบ่งออกเป็นการโอนจากแรงงานบนฝั่ง (Land-Based) 1.9 พันล้านดอลลาร์ฯ และจากแรงงานนอกชายฝั่ง (Sea-Based) 5 ร้อยล้านดอลลาร์ฯ โดย OFW Remittances ที่เร่งตัวขึ้นอาจเป็นผลของการอ่อนค่าลงของเปโซ ซึ่งผลักดันให้ชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศโอนรายได้กลับเข้ามาให้ครอบครัวเป็นสกุลเปโซ กลายมาเป็นปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศอีกแรงหนึ่ง ทั้งนี้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ตั้งเป้าไว้ว่า OFW Remittances รวมทั้งปี 2018 จะเพิ่มขึ้นราว +3.6%
ยอดการค้าระหว่างประเทศเดือน ม.ค. 2018 อยู่ที่ 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง +7.0% YoY เทียบกับเดือนก่อน ขณะที่การขาดดุลการค้าของประเทศอยู่ที่ -3.32 พันล้านดอลลาร์ฯ แคบลงจากเดือนก่อน เพราะแม้ว่ายอดส่งออกรวมจะชะลอลงสู่ +0.5% YoY นับว่าเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน แต่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวได้ดีที่ +10.8% YoY จึงเป็นสัญญาณว่าตัวเลขการส่งออกรวมอาจกลับมาเร่งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้น ยอดนำเข้าสินค้ากลับมาชะลอลงเหลือ +11.4% YoY ในช่วงเดียวกัน หลังจากขยายตัวได้ถึง +20.0% ในเดือนก่อน
ฟิลิปปินส์ขาดดุลการชำระเงิน -429 ล้านดอลลาร์ฯในเดือน ก.พ. 2018 หลักๆมาจากการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินของ BSP ประกอบกับการชำระหนี้สกุลเงินต่างชาติของรัฐบาล ซึ่งถูกหักล้างด้วยรายได้ของ BSP จากการลงทุนในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การขาดดุลแคบลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย อย่างไรก็ดี หากรวมยอดในช่วง ม.ค. – ก.พ. 2018 จะสังเกตได้ว่าการขาดดุลสะสมพุ่งขึ้นเป็น -961 ล้านดอลลาร์ฯ กว้างกว่าการขาดดุลรวมทั้งปี 2017 มีสาเหตุมาจากการขาดดุลการค้าเดือน ม.ค. ที่กว้างขึ้น ประกอบกับการไหลออกของเงินลงทุนระยะสั้นของต่างชาติสุทธิ (Net Foreign Portfolio Investments) ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนับว่าสอดคล้องกับเงินเปโซที่อ่อนตัวลงกว่า 4.0% นับตั้งแต่ต้นปีเทียบกับดอลลาร์ฯ
มาเลเซีย
ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ประกาศคงดอกเบี้ยไว้ที่ 3.25% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด หลังจากที่ในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของการประชุมในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น ธนาคารฯ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของมาเลเซียในปี 2018 จะชะลอลง จากปัจจัยด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และราคาสินค้านำเข้าที่ลดลงจากการแข็งค่าของเงินริงกิต
เมียนมา
รัฐบาลเมียนมาได้เริ่มดำเนินโครงการพัฒนารถไฟวงแหวนในเมืองย่างกุ้ง โดยได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นมูลค่ากว่า 207 ล้านดอลลาร์ฯ รถไฟสายดังกล่าวมีความยาวถึง 29.5 ไมล์ ซึ่งหากได้รับการปรับปรุงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่า จำนวนผู้โดยสารต่อวันจะพุ่งขึ้นราว 3 เท่าตัว หรือจากระดับ 90,000 คน สู่ระดับ 260,000 คน และสามารถวิ่งได้เร็วขึ้นราว 1 -2 ชั่วโมง ทั้งนี้ โครงการในส่วนตะวันตกมีกำหนดเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม 2019 ขณะที่ในส่วนตะวันออกนั้น มีกำหนดเสร็จสิ้นในปี 2022