CNBC รายงานว่า ราคาของรถยนต์มือสอง รถยนต์ให้เช่าที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งการดีดตัวกลับของค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก และอาหาร อยู่เบื้องหลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นครั้งใหญสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ท่ามกลางการกลับมาเปิดเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกครั้ง
กรมแรงงานสหรัฐฯ รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เร่งตัว 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติการเงินที่เลวร้าย ทั้งนี้ หากไม่นับหมวดอาหารและพลังงานที่ผันผวน อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 4.5% ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 1991 และเมื่อดูเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานรายเดือน พบว่า เพิ่มขึ้น 0.9% และ 0.5% ตามลำดับ ตามการคาดการณ์ของ Dow Jones
สำนักงานสถิติแรงงานเผยแพร่ข้อมูลรายสินค้า พบว่า ราคารถยนต์มือสองและรถยนต์ให้เช่าเป็นตัวนำการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโดยรวม โดยการแพร่ระบาดทำให้คนเก็บตัวอยู่ในบ้านตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน การเช่ารถยนต์และราคาขายรถยนต์เพิ่มขึ้นเนื่องจากลูกค้าจำนวนมากพร้อมใจกันออกจากบ้านเป็นครั้งแรกในเดือน มิ.ย. ขณะที่การขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์ทั่วโลกเป็นปัจจัยสำคัญกดดันราคา ทั้งนี้ พบว่า ในรอบ 12 เดือน ราคารถยนต์มือสองและรถบรรทุกเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 45.2% ขณะที่ต้นทุนการเช่ารถยนต์และรถบรรทุกเพิ่มขึ้น 87.7%
นักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America เชื่อว่า นี่คือช่วงเวลาที่ราคารถยนต์มือสองไปถึงจุดสูงสุด ส่วนเชื้อเพลิงหลายประเภท เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันเชื้อเพลิง และเชื้อเพลงเครื่องยนต์อื่นๆ ก็เป็นอีกกลุ่มที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ โดยราคาน้ำมันเบนซินฟิวเจอร์พุ่งขึ้นกว่า 60% ในปีนี้จากการที่ชาวอเมริกันผ่านพ้นการแพร่ระบาด
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่นที่ราคาเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การขนส่งสาธารณะ โดยราคาตั๋วเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 17.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนราคาที่พักสำหรับการออกจากบ้าน เช่น โรงแรม และโรงแรมม่านรูด ราคาเพิ่มขึ้น 16.9%