เว็บไซต์สภาเศรษฐกิจโลก (weforum.org) รายงานว่า งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่โดย Frontiers ได้รวบรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 167 เมืองทั่วโลก พบว่า 25 เมืองใหญ่ ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก 52% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด โดยเมืองในเอเชียปล่อยมลภาวะก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ขณะที่เมืองส่วนใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา
ปี 2015 มี 170 ประเทศทั่วโลกร่วมทำข้กตกลงปารีส มีเป้าหมายจำกัดค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งตามข้อตกลงนี้ หลายประเทศและหลายเมืองเสนอเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่จากรายงานเกี่ยวกับช่องว่างการสร้างมลภาวะของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เมื่อปี 2020 พบว่า หากไม่ดำเนินการเข้มงวดเพื่อบรรเทาวิกฤติสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิโลกจะยังร้อนขึ้นได้มากกว่า 3 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษที่ 21
ขณะที่ ผลศึกษาของ Frontiers ชี้ว่า เมืองในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ มีสัดส่วนการสร้างมลภาวะต่อหัวมากกว่าเมืองในพื้นที่กำลังพัฒนา โดยกลุ่มพลังงานและการขนส่งเป็น 2 แหล่งหลักที่ปล่อยมลพิษ ทั้งนี้ มี 113 เมืองใน 167 เมือง ที่ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยมลภาวะ โดย 40 เมืองตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
ดร.Shaoqing Chen จากมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็นในจีน ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานของ Frontiers และผู้ร่วมจัดทำ ระบุว่า ภาคสำคัญที่ปล่อยมลภาวะควรกำหนดเป้าหมายในการบรรเทาผลกระทบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การใช้พลังงาน การขนส่ง การใช้พลังงานในครัวเรือน และการบำบัดของเสียสำหรับเมือง
นอกจากนี้ ต้องพัฒนาเครื่องมือจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกให้สอดคล้องกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลดก๊าซเรือนกระจกในเมือง และเมืองต่างๆ ควรกำหนดเป้าหมายบรรเทาผลกระทบที่ทะเยอทะยาน ติดตามได้ง่าย