BF Economic Research
ธปท. เผย เศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ชะลอลงต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เราให้กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ 31.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์ฯ
- การบริโภคภาคเอกชนพลิกกลับมาติดลบ (-1.2% YoY vs. 0.8% เดือนก่อน): องค์ประกอบของเครื่องชี้การบริโภคสะท้อนสภาวะการเติบโตที่ช้าหรือหดตัวลง โดยเฉพาะการบริโภคหมวดสินค้าไม่คงทน (-3.4% vs. -3.9% เดือนก่อน) หมวดบริการ (-3.3% vs. -0.6% เดือนก่อน) และหมวดสินค้าคงทน (12.0% vs. 24.3% เดือนก่อน) แม้ว่ารายได้ภาคเกษตรจะยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง (15.2%) แต่ตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบางจะเห็นได้จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน
- การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวลดลง (18.3% vs. 28.9% เดือนก่อน): ดัชนีอ่อนแอลงในเกือบทุกกลุ่ม อาทิ วัสดุก่อสร้าง (3.4% vs. 6.9% เดือนก่อน) ยอดขายเครื่องจักรในประเทศ (34.5% vs. 61.3% เดือนก่อน) และยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ (11.2% vs. 35.4% เดือนก่อน)
- นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยเดือนมิ.ย.ที่ 5.7 พันคน (vs. 6.1 พันคน เดือนก่อน) โดยเป็นผลมาจากมาตรการการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดก่อนที่จะเปิด Phuket Sandbox ในเดือนก.ค.
- การใช้จ่ายภาครัฐ (ไม่รวมเงินโอน) ปรับตัวลดลง: ทั้งรายจ่ายประจำ (1.2% YoY vs. 4.2% เดือนก่อน) และรายจ่ายลงทุน (2.8% vs. 6.0% เดือนก่อน) ชะลอลง
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1.25% YoY ในเดือน มิ.ย. (vs. 2.44% เดือน พ.ค. และ 3.41% เดือน เม.ย.)
- ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 99.93 เพิ่มขึ้น 1.25% YoY เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 2.4% YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.89% YoY YTDo สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 100.47 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.52% YoY ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.27% YoY YTD
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิ.ย. นี้เป็นบวกเนื่องด้วยผลจากฐานต่ำของปีก่อนหน้าที่รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเรื่องค่าครองชีพตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2020 เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ส่วนสินค้ากลุ่มพลังงงานยังขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลง (9.0% YoY vs. 24.8% เดือนก่อน) และมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟในเดือน พ.ค.-มิ.ย. ขณะที่ราคาหมวดอาหารสดยังหดตัว (-0.2% vs. -0.4% เดือนก่อน)
- กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2021 จะอยู่ในกรอบ 0.7 – 1.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 1.2%)
- ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลที่ -1.3 พันล้านดอลลาร์ฯ (vs. prev. -2.6 พันล้านดอลลาร์ฯ) ขาดดุลน้อยกว่าเดือน ก่อน จากทั้ง
- 1) ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง เนื่องจากรายจ่าย กําไรส่งกลับปรับลดลง หลังจากที่เร่งขึ้นในช่วงก่อนหน้าซึ่งเป็นฤดูกาลส่งกลับ กําไรของบริษัทต่างชาติในไทย และ
- 2) ดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้นตามทิศทางการ ส่งออก ทั้งนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดสะสม YTD ยังคงขาดดุล ที่ -8.6 พันล้านดอลลาร์ฯ
- การส่งออก (ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์) มิ.ย.โตพุ่ง 44% สูงสุดในรอบ 11 ปีต่อเนื่องหนุนโดยภาคเกษตร
- การส่งออกไทยเดือนมิ.ย. มีมูลค่า 23,699.43 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 43.82% YoY (vs. prev.41.6%) เป็นการการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี จากสินค้าเกษตรที่มีอัตราการขยายตัวสูง
- ทั้งนี้เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธแล้ว การส่งออกขยายตัว 41.56% YoY เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการเติบโตที่ฟื้นตัวจากภาคเศรษฐกิจจริง
- ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 22,754.37 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 53.75% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 945.06 ล้านดอลลาร์ฯ
- สำหรับภาพรวมในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 132,334.65 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 15.53% การนำเข้า มีมูลค่า 129,895.50 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 26.15% YoY YTD ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ไทยเกินดุลการค้า 2,439.15 ล้านดอลลาร์ฯ
- ในรายองค์ประกอบ สินค้าที่มีอัตราการขยายตัวสูงมาก 5 อันดับแรกในเดือนมิ.ย. ประกอบด้วย
- สินค้าผลไม้ ขยายตัว 185.10% นำโดย ทุเรียน ขยายตัว 172% และมังคุด ขยายตัว 488%
- สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 90.48%
- สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน ขยายตัว 78.5%
- สินค้าเครื่องจักรกล ขยายตัว 73.13% และ
- สินค้าเคมีภัณฑ์ ขยายตัว 59.82%
- ในรายประเทศ พบว่า มีการขยายตัวดีทุกตลาด สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยตลาดหลัก ขยายตัว 41.2% ตลาดรอง ขยายตัว 49.5% และตลาดอื่นๆ ขยายตัว 81.6%
- กระทรวงพาณิชย์มองว่า การส่งออกทั้งปี 2021 นี้จะทำได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิมที่ 4%
ทิศทางค่าเงินบาท
นับตั้งแต่ต้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจากระดับ 32.0 บาทต่อดอลลาร์ฯ เป็น 32.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ (29 ก.ค. 2021) จากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่หนุนให้บาทอ่อนค่าแรง โดยปัจจัยภายนอกมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์ฯ หลังทิศทางการดำเนินนโยบายของ Fed มีท่าที Hawkish มากขึ้นในการประชุมเดือนมิ.ย. ซึ่ง Fed ได้มีการปรับ Dot Plot ที่ส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้า ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในเอเชีย พบว่า บาทยังคงเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุด ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยภายในอย่างการระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 เป็นสำคัญ โดยไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็วในช่วงเดือนที่ผ่านมา จากระดับราว 3-4 พันคนต่อวันเป็นราว 9 พันคนในช่วงกลางเดือนก.ค. และอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกหากรัฐบาลยังไม่สามารถจัดการควบคุมการแพร่ระบาดได้ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยิ่งล่าช้าออกไป และนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนจากตลาดหุ้นและตราสารหนี้ รวมทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังขาดดุลต่อเนื่องในเดือนพ.ค. รวมทั้งมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในช่วงที่เหลือของปี ทำให้ทั้งปี 2021 เราคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจกลับมาติดลบ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราเป็นบวกมาตลอดถึง 7 ปีจากรายได้การท่องเที่ยวเป็นหลัก ในขณะที่ดุลการค้ายังได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย
ในระยะสั้นราว 3-6 เดือน เราขอปรับกรอบค่าเงินบาทเป็น 31.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์ฯ เนื่องจากเรามองว่าจากสถานการณ์ปัจจุบัน บาทมีแนวโน้มขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ระดับ 33.0 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ และหากไทยยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศให้ดีขึ้นได้ภายในไตรมาส 4 สวนทางกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเรามองว่า Fed จะส่งสัญญาณลดการเข้าซื้อ QE เบื้องต้นในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ ซึ่งปัจจัยจาก Fed ก็จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าจนทะลุ 33.0 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ ในขณะที่ความเป็นไปได้ของการที่บาทจะกลับมาแข็งค่ากว่าระดับปัจจุบันก็เป็นไปได้เช่นกัน หากเราควบคุมการระบาดได้ดีขึ้น บวกกับ Sentiment ที่ว่าในช่วงปลายปีมีโอกาสที่เงินทุนจากต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฝั่งเอเชียที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ โดยเราต้องติดตามตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อรายวันหลังการประกาศล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ และความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนในไทยอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี เรามองว่าความไม่แน่นอนของประเด็นการแพร่ระบาดของ COVID-19 (โดยเฉพาะการระบาดของสายพันธุ์ Delta) และพัฒนาการเศรษฐกิจยังคงมีสูงมาก และยากที่จะคาดการณ์ โดยเงินเฟ้อที่นับเป็นปัจจัยหลักต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของ Fed ก็มีความไม่แน่นอนสูงมากเช่นเดียวกัน ซึ่งคณะกรรมการ Fed ระบุชัดว่าการประมาณการเงินเฟ้อนั้นทำได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการเปิดเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาว เรายังคงคาดว่าบาทจะเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า ท่ามกลางนโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยและแผนการปรับลดการซื้อสินทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
ด้านค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับยูโร เราปรับกรอบเป็น 37.25-39.50 บาทต่อยูโร เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการอ่อนค่าของบาท เนื่องจากแม้ค่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ แต่เมื่อเทียบกับบาทแล้ว ยูโรยังมีแนวโน้มแข็งค่าได้มากกว่าบาท จากปัจจัยภายในประเทศไทยดังกล่าวข้างต้น ส่วนค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเยน ในปัจจุบันเยนมีการเคลื่อนไหวตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และ DXYค่อนข้างมาก โดยเยนปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ ทะลุ 111 เยนต่อดอลลลาร์ฯ ไปแล้ว จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในญี่ปุ่น และในระยะข้างหน้า ด้วยทิศทางนโยบายการเงินของ Fed กับ BoJ ที่แตกต่างกันมากขึ้น โดยเรามองว่า เยนมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในระดับ 110 เยนต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงกับปัจจุบัน เนื่องจากการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนการเลือกตั้งน่าจะทำให้เยนไม่อ่อนค่าแรงไปกว่านี้มากนัก ซึ่งเมื่อเทียบกับไทย เรามองว่าญี่ปุ่นน่าจะทำได้ดีกว่าไทยในด้านการจัดหาวัคซีน และยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าไทยมาก ทำให้ค่าเงินบาทก็ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเยนได้ เราจึงปรับกรอบค่าเงินบาทต่อ 100 เยนเป็น 28.50-30.00