By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์
BF Knowledge Center
นักลงทุนคงคุ้นเคยกับราคาเป้าหมายของหุ้นที่นักวิเคราะห์ให้ไว้สำหรับหุ้นแต่ละตัว แต่ส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความหมายหรือการใช้ประโยชน์จากราคาเป้าหมาย บางท่านยังเข้าใจว่าเป็นเป้าหมายที่คาดว่าราคาหุ้นจะต้องขึ้นไปถึง(ในเร็ววัน) หากราคาไปไม่ถึงหรือไปถึงเป้าหมายช้า นักวิเคราะห์จะได้รับเสียงบ่นว่าไม่แม่นยำ ไม่มีฝีมือ ไม่น่าเชื่อถือ ในขณะที่หุ้นเก็งกำไรก็มีการร่ำลือกันปากต่อปากว่ามีรายใหญ่หรือเจ้ามือให้ราคาเป้าหมาย และหลายๆครั้งราคาก็ไปถึงเป้าหมายที่ว่าจริงๆ
ขอกล่าวถึงราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์ (Target price) ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า Fair price หรือ Fair value แปลว่าราคาหรือมูลค่าที่เหมาะสม ในทางทฤษฎีการเงินใช้คำว่า Intrinsic value (มูลค่าที่แท้จริง) โดยเป็นคำกลางๆ ที่ใช้กับการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โครงการ หรือ หลักทรัพย์ (เช่น หุ้น ตราสารหนี้ อนุพันธ์ และ อื่นๆ) มูลค่าที่ประเมินได้ถือว่าเป็นมูลค่าหรือราคาที่เหมาะสมของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้น ที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุน (ทั้งซื้อและขาย)
- หากราคาตลาดหรือราคาที่มีผู้เสนอขายต่ำกว่าราคาที่เหมาะสม หลักทรัพย์นั้นถือว่ามีราคาถูก (undervalued) น่าซื้อลงทุน
- หากราคาตลาดสูงกว่าราคาที่เหมาะสม ถือว่าแพง (overvalued) ไม่น่าลงทุนหรือหากมีหลักทรัพย์นั้นอยู่ก็ควรขายออกไป
การประเมินมูลค่าที่แท้จริงหรือเหมาะสมมีแนวคิดและวิธีการที่หลากหลาย แต่มีหลักการร่วมกันคือประเมินรายได้สุทธิหรือมูลค่าทางการเงินสุทธิที่ได้รับจากทรัพย์สินนั้น โดยคำนวนรายได้หรือรายรับ หักด้วยต้นทุนการดำเนินงานต่างๆ และต้นทุนทางการเงิน