By…ฐาปณัฐ สุภาโชค
Fund Management
ในปัจจุบัน ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองในอากาศซึ่งก่อตัวรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในเมืองต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากไอเสียรถยนต์ กับเขม่าและฝุ่นจากการก่อสร้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้แต่ละประเทศมีการเตรียมออกมาตรการป้องกันและแก้ไขออกมาอย่างหลากหลาย โดยมากจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบรถยนต์เก่า ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์พลังงานทดแทน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิง จึงไม่แปลกที่ผู้ผลิตรถยนต์เกือบทุกค่ายจะสนใจในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
หลายประเทศได้เริ่มกำหนดระยะเวลาในการเลิกใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล นำโดย นอร์เวย์ ในปี 2025 อินเดีย ในปี 2030 ตามด้วย ฝรั่งเศส และ อังกฤษ ในปี 2040 ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่าง จีน ยังไม่ได้ประกาศเส้นตายออกมาอย่างเป็นทางการ แต่การกำหนดเป้าหมายลดมลพิษในอากาศภายในปี 2030 ทำให้เชื่อว่าเส้นตายของ จีน อาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด
ก่อนหน้านี้ จีนได้ประกาศห้ามใช้รถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน และหันมาใช้รถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทน ส่งผลให้จำนวนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าใน จีน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาถึงกว่า 200 ล้านคัน
ด้านประเทศไทย แม้จะยังอยู่ในช่วงปรับตัวให้สอดรับกับกระแสรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็เริ่มมีนโยบายออกมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างอยู่บ้าง ได้แก่ การตั้งเป้าให้เขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) เป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการนับรวมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี การสนับสนุนการวิจัยแบตเตอรี่ สนับสนุนการนำร่องในกลุ่มรถสาธารณะ เช่น รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station)
สำหรับผู้ประกอบการไทยได้เริ่มมีการตื่นตัวต่อการมาของกระแสรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น EA ที่เปิดตัวสถานี Charging Station 100 แห่ง ไปเมื่อเดือน มกราคม ที่ผ่านมา และตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,000 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยในเขตกรุงเทพ และปริมณฑลทุกๆ 5 กิโลเมตรภายในปี 2561 นี้ ขณะที่ PTT ได้มีการสร้าง PTT EV Station ซึ่งวางแผนจะเปิด 15 สาขา ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลภายใน 5 ปี และมีการใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าในการอำนวยความสะดวกในการรับส่งพนักงานในกลุ่มบริษัท
นอกจากนี้ KCE เองก็อยู่ในระหว่างปรับอัตราส่วนการผลิต High Density Interconnect (HDI) PCB สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึง AH ที่เริ่มมีการทำวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับ Car Navigator System สำหรับรถยนต์ไร้คนขับ และมีการวางแผนปรับการผลิตชิ้นส่วนเพื่อให้พร้อมรองรับ EV ได้ในอนาคต
ปัจจุบัน รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยยังคงมีจำนวนค่อนข้างน้อย ที่ประมาณ 103,702 คัน แบ่งเป็นยานยนต์แบบไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) 102,308 คัน และยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) 1,394 คัน จากจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมด 8,796,543 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561) เมื่อพิจารณาจากยอดขายรถยนต์ต่อปีที่ 700,000-800,000 คันแล้ว เชื่อได้เลยว่าเมื่อปัจจัยพื้นฐานต่างๆพร้อม อนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเติบโตได้อย่างโดดเด่นเลยทีเดียว