เว็บไซต์สภาเศรษฐกิจโลก หรือ weforum.org รายงานว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพลังงานหมุนเวียนเติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการหลีกเลี่ยงผลเชิงลบด้านสภาพภูมิอากาศ โดยปีที่ผ่านมาพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมรวมกันผลิตไฟฟ้า 8.7% ของการจ่ายไฟฟ้าทั่วโลก เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2010 ซึ่งมีสัดส่วนแค่ 1.7% และสูงกว่าที่กลุ่มพลังงานกระแสหลักเคยทำแบบจำลองประมาณการไว้
สำหรับเหตุผลที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนเติบโตรวดเร็ว ได้แก่ ต้นทุนที่ลดลง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด นับตั้งแต่ปี 2010 ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง 85% ส่วนต้นทุนของพลังงานลมทั้งบนชายฝั่งและนอกชายฝั่งก็ลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พลังงานหมุนเวียนจากแหล่งเหล่านี้มีต้นทุนที่แข่งขันได้กับไฟฟ้าที่มาจากพลังงานฟอสซิล
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนลดลงก็คือ มีการปรับใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เมื่อมีขนาดทางเศรษฐกิจที่ใหญ่พอก็ทำให้ต้นทุนลดลง นอกจากนี้เมื่อพลังงานหมุนเวียนได้รับความนิยมขึ้น จึงขยายอิทธิพลไปสู่ภาคการเมืองและดึงดูดการเงินได้มากขึ้น ทั้งยังเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นที่จะมีการออกนโยบายสนับสนุนและการสนับสนุนเงินทุน เมื่อปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ทำให้การขยายพลังงานหมุนเวียนเป็นเหมือนโรคติดต่อในสังคม เมื่อบ้านหลังหนึ่งติดแผงโซลาร์บนหลังคา เพื่อนบ้านที่เห็นและได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็สนใจติดตามกันมา
ขณะที่การสนับสนุนด้านนโยบายก็เป็นความจำเป็นอีกด้านต่อการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน โดยพบว่า กการให้เครดิตหรืออุดหนุนทางภาษีกับพลังงานหมุนเวียน ภาษีนำเข้า และการประมูลที่แข่งขันได้ ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยลดต้นทุนและกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ขณะที่การลงทุนของรัฐบาลในด้านการวิจัยและพัฒนาก็มีความสำคัญช่วยส่งเสริมนวัตกรรมในพลังงานหมุนเวียน โดยพบว่า จีน ยุโรป และสหรัฐฯ เป็นผู้นำด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมผ่านนโยบายสนับสนุน ขณะที่ทั่วโลกมี 165 ประเทศ มีเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และไม่ใช่เพียงเป้าหมายระดับประเทศเท่านั้น พบว่ามีมากกว่า 600 เมืองทั่วโลก ที่มีเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน 100%