Central Bank Digital Currency (CBDC)

Central Bank Digital Currency (CBDC)

โดย…ชัชวาล  สิมะธัมนันท์

กองทุนบัวหลวง

นับตั้งแต่ปี 2009 ที่สกุลเงินดิจิทัลแรกของโลกอย่าง bitcoin ปรากฏตัว พร้อมกับศักยภาพของเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ที่อยู่เบื้องหลังอย่าง blockchain ที่มีความปลอดภัยและสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งาน ทำให้โลกของการทำธุรกรรมทางการเงิน เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งวิกฤติ COVID-19 ได้เร่งให้ทั่วโลกก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะวงการการเงินที่กำลังมุ่งหน้าสู่สังคมไร้เงินสดมาก่อนเกิดวิกฤตอยู่แล้ว

ปัจจุบัน ณ เดือนกรกฎาคม 2564 มีสกุลเงินดิจิทัล หรือ cryptocurrencies หมุนเวียนอยู่มากกว่า 6,000 สกุลเงิน และบริษัทชั้นนำระดับโลกต่างก็ให้ความสนใจสกุลเงินดิจิทัลกันมากขึ้น เช่น บริษัท Tesla เคยเปิดให้สามารถซื้อรถยนต์ของบริษัทด้วย bitcoin ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะประกาศยกเลิกในเวลาต่อมา หรือบริษัท Facebook ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำอีก 27 แห่ง เช่น Visa, Mastercard, Ebay, Uber และ Vodafone กำลังพัฒนาสกุลเงินใหม่ ชื่อว่า ดิเอม (Diem) มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นสกุลเงินที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก (Global Currency)

จากความตื่นตัวดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันธนาคารกลางกว่า 80 ประเทศทั่วโลก (มูลค่า GDP รวมมากกว่า 90% ของทั้งโลก) ให้ความสนใจศึกษา และกำลังทดลองความเป็นไปได้ต่างๆ ที่จะมีสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง หรือที่เรียกว่า Central Bank Digital Currency (CBDC)

CBDC จะแตกต่างจาก cryptocurrency ทั่วไปโดย CBDC ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ และมีคุณสมบัติความเป็นเงินอย่างครบถ้วน คือ 1) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย 2) เป็นที่เก็บรักษามูลค่า คือ มีมูลค่ามั่นคง และ 3) เป็นหน่วยวัดมูลค่าของทั้งสินค้าและบริการ ในขณะที่ cryptocurrency สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติความเป็นเงิน และไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

CBDC สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ Wholesale CBDC ซึ่งเป็นลักษณะที่ธนาคารกลางออก CBDC ให้สถาบันการเงินใช้ในการชำระธุรกรรมขนาดใหญ่ระหว่างกัน และ Retail CBDC สำหรับภาคธุรกิจและประชาชนใช้ชำระธุรกรรมรายย่อย

ในต่างประเทศ ประเทศที่มีความคืบหน้าชัดเจนมากที่สุดของโลกคงจะไม่พ้นประเทศจีน ที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2014 จนปัจจุบันธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ทดสอบใช้หยวนดิจิทัล (e-CNY) กับ 6 เมืองใหญ่ ได้แก่ เซินเจิ้น, ซูโจว, สงอัน, เฉิงตู, ฉางซา และเซียงไฮ้ โดยนำไปใช้จับจ่ายซื้อของและชำระค่าบริการสาธารณะ นอกจากนี้ทางการจีนยังมีแผนจะทดลองใช้หยวนดิจิทัลกับคนต่างชาติ ทั้งนักกีฬา ผู้เข้าชม และผู้เข้าร่วมในงานโอลิมปิกฤดูหนาว (Beijing Winter Olympics) ปี 2022 ที่กรุงปักกิ่ง อีกด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้น ถือเป็นหนึ่งในประเทศต้นๆ ที่เริ่มศึกษา CBDC โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มศึกษาเรื่อง CBDC ตั้งแต่ปี 2018 โดยร่วมกับธนาคารพาณิชย์ไทยริเริ่ม “โครงการอินทนนท์” เพื่อทดสอบระบบการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน รวมถึงทดลองการโอนเงินข้ามประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง และร่วมมือกับธนาคารกลางจีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ และในปีนี้ ธปท. กำลังศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail CBDC) และคาดว่ากลางปีหน้า จะสามารถเริ่มทดสอบการใช้งาน Retail CBDC ในบางพื้นที่ของประเทศไทย

CBDC จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพ และเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน ทั้งในด้านความเร็ว ความปลอดภัย ตลอดจนการเข้าถึงของประชาชน และลดต้นทุนในระบบการเงิน รวมถึงช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่จะทำให้เกิดบริการทางการเงินที่หลากหลายในอนาคต อย่างไรก็ตาม CBDC ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น ความท้าทายจากภาระด้านต้นทุนการลงทุน และรักษาเสถียรภาพของเทคโนโลยี รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลของธนาคารกลางและความเสี่ยงด้านชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ หรือภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber-attacks)

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยรอบด้าน และการเติบโตของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง การนำ CBDC ออกมาใช้งานจริง คงเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในระยะยาว โดยที่ CBDC จะเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิด Cashless Society อย่างแท้จริงเร็วขึ้น และพวกเราทุกคนจะได้ก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Economy) อย่างเต็มรูปแบบ