โดย…เต็มเดือน พัฒจันจุน
กองทุนบัวหลวง
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก ทุกวันนี้ เราจึงเห็นการเกิดขึ้นของธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ หรือธุรกิจเดิมที่เปลี่ยนโฉมไปจากในอดีต บทความนี้จะนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับโมเดลธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่ถือว่าเติบโตอย่างมากในยุคนี้ นั่นก็คือ ธุรกิจแพลตฟอร์ม (Platform Business) จนมีคำกล่าวที่ว่า ทุกวันนี้แพลตฟอร์มอยู่รอบๆ ตัวเรา เพราะหันมองไปทางไหน เราก็จะเจอกับธุรกิจแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย บริการเรียกรถ บริการส่งของ บริการสั่งอาหาร การทำงานหรือเรียนออนไลน์ การค้าขายออนไลน์ บริการด้านสุขภาพ และบริการเกี่ยวกับการเงินการลงทุน เป็นต้น ซึ่งเรียกได้ว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นธุรกิจมาแรงในยุคดิจิทัลเลยก็ว่าได้
ความแตกต่างระหว่างธุรกิจแพลตฟอร์มกับธุรกิจแบบดั้งเดิม (Pipeline Business) คือ ธุรกิจแบบดั้งเดิมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการจัดหาวัตถุดิบมาผลิตสินค้าและจำหน่ายให้กับผู้ซื้อ ขณะที่ธุรกิจแพลตฟอร์มสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการเชื่อมโยงกันระหว่างสมาชิกในแพลตฟอร์ม โดยที่เจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์มอาจไม่ได้ผลิตสินค้าหรือเป็นเจ้าของสินค้าเอง เช่น Airbnb ธุรกิจให้บริการห้องพักที่ไม่ได้มีห้องพักเป็นของตัวเอง หรือ Uber และ Grab ธุรกิจให้บริการเรียกรถแต่ไม่ได้มีรถเป็นของตัวเองเช่นกัน โดยธุรกิจแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จจะต้องสามารถดึงดูดให้มีผู้เข้ามาใช้งานเป็นจำนวนที่มากพอและต่อเนื่อง (Network Effect) เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้มีส่วนร่วมในระบบนิเวศ (Ecosystem) ของแพลตฟอร์มนั้นๆ
ในความเป็นจริง ธุรกิจแพลตฟอร์ม ไม่ใช่สิ่งใหม่เพราะหลายแพลตฟอร์มมีมานานแล้ว เช่น ตลาดหรือศูนย์การค้าที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นทำเลทางเศรษฐกิจหรือเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ซึ่งเชื่อมโยงผู้ซื้อผู้ขายเข้าด้วยกัน หรือหนังสือพิมพ์ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้อ่านและผู้ลงโฆษณา ก็ถือเป็นแพลตฟอร์มรูปแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้ธุรกิจแพลตฟอร์มในยุคนี้เปลี่ยนไป คือ เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ที่เข้ามามีบทบาทในการเชื่อมโยงระหว่างผู้มีสินค้าหรือบริการ (Provider) กับผู้ที่ต้องการสินค้าหรือบริการ (Seeker) ที่อยู่บนแพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ Big Data ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ ทำความเข้าใจ ตลอดจนคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรมหรือความต้องการ ซึ่งทำให้แพลตฟอร์มสามารถตอบสนองได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้แพลตฟอร์มและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่เจ้าของแพลตฟอร์มได้มากยิ่งขึ้น เช่น เกิดการต่อยอดบริการใหม่ๆ หรือการหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Partner) เพื่อทำให้ Ecosystem ของแพลตฟอร์มสามารถให้บริการได้หลากหลายและดึงดูดให้มีผู้ใช้แพลตฟอร์มมากขึ้นต่อเนื่อง
ตัวอย่างเช่น Grab ที่เริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นแพลตฟอร์มบริการเรียกรถ แต่ปัจจุบันมีบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น ทั้งบริการสั่งอาหาร บริการส่งของ บริการซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น นอกจากนั้น Grab ได้เป็น Partner กับธนาคารกสิกรไทยให้บริการ GrabPay ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ที่สามารถใช้จ่ายภายใน Ecosystem ของ Grab และล่าสุด Grab ต่อยอดให้บริการสินเชื่อดิจิทัล ซึ่งเริ่มจากการปล่อยกู้แก่ผู้ขับขี่และร้านค้าที่อยู่ในแพลตฟอร์มของ Grab โดยใช้วิธีประเมินคะแนนเครดิตในรูปแบบ Data-driven Credit Scoring จากข้อมูลที่ Grab มีอยู่แล้ว เช่น อายุ ระดับการศึกษา รายได้ที่ได้จาก Grab ข้อมูลการใช้ GrabPay เป็นต้น
โดยทั่วไปอาจแบ่งประเภทของธุรกิจแพลตฟอร์มได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรก คือ Transaction Platform เป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ที่มีสินค้าหรือบริการกับผู้ที่ต้องการสินค้าหรือบริการ เช่น Alibaba, Baidu, Snapchat, Instagram, Twitter, WeChat, LinkedIn, Pinterest, Rakuten, Airbnb, Uber, Match.com, TripAdvisor และ Lending Club เป็นต้น ประเภทที่สอง คือ Innovation Platform เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้บริษัทหรือบุคคลอื่นเข้ามาพัฒนาต่อยอดสินค้าหรือบริการของตนเองได้ ทำให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ เช่น Netflix, Nintendo และ Sony PlayStation เป็นต้น และประเภทที่สาม คือ Integration Platform เป็นแพลตฟอร์มที่ผสมผสานกันระหว่าง Innovation Platform และ Transaction Platform เช่น Facebook, Amazon, Apple, Google, Microsoft และ Tencent เป็นต้น
เมื่อพิจารณามูลค่าตลาด (Market Capitalization) ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกพบว่า บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 5 อันดับแรกของโลกในปัจจุบัน ล้วนเป็นบริษัทที่มีธุรกิจแพลตฟอร์มทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Apple, Microsoft, Amazon, Google และ Facebook (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564) นอกจากนี้ บรรดาบริษัท Unicorn Startup ซึ่งหมายถึงบริษัท Startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น Ant Group, ByteDance, Telegram, Grab และ Gojek เป็นต้น ก็ล้วนเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มเช่นกัน
สำหรับธุรกิจแพลตฟอร์มของไทยถือว่ายังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะเห็นธุรกิจ Startup ของไทยจำนวนมากที่ทำธุรกิจแพลตฟอร์มในหลากหลายประเภท ทั้งแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการเงินการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา สุขภาพ อาหาร อสังหาริมทรัพย์ การค้าขายออนไลน์ โซเชียลมีเดีย งานอีเว้น การจัดหางาน ตลอดจนการเกษตร ตัวอย่างแพลตฟอร์มเหล่านี้ เช่น Finnomena, Bitkub, iTax, Jitta, TripGuru, Klook, Thai Mooc, ZeekDoc, Wongnai, Hungry Hub, Robinhood, Baania, Kaidee, Cheewid, Eventpop, Seekster และ Ricult เป็นต้น
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้คนในสังคมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีการเข้าใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อาจเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์มไทย และในอนาคตอาจมีธุรกิจแพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่เติบโตกลายเป็นบริษัท Unicorn Startup หรือเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นโอกาสการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่อไป