By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์
BF Knowledge Center
Alpha (α) เป็นอักษรตัวแรกของภาษากรีกโบราณ เปรียบได้กับ ก ไก่ ในภาษาไทย ถ้าใช้เป็นตัวเลขจะหมายถึง 1 เมื่อถูกแปลงไปเป็นภาษาละตินหรือภาษาอังกฤษจะกลายเป็นอักษร A ในภาษาอังกฤษ Alpha ยังหมายถึงของสิ่งแรกหรือจุดเริ่มต้น ศาสตร์แขนงอื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ก็นำทั้งชื่อและเครื่องหมาย Alpha ไปใช้อย่างหลากหลาย
ในวงการการเงินและการลงทุน Alpha ถูกนำมาใช้ในความหมายของผลตอบแทนที่สูงกว่าเป้าหมาย (Required rate/Target return) หรือตัวเทียบวัด (Benchmark) โดยเป็นการวัดผลตอบแทนของหลักทรัพย์หรือพอร์ตลงทุน เช่น หุ้นธนาคาร ABC ให้ผลตอบแทนในปีที่ผ่านมา 15% ในขณะที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทน 10% พูดได้ว่าหุ้น ABC มี Alpha 5% หรือนักลงทุนทำผลตอบแทนจากพอร์ตลงทุนในหุ้นได้ 9% ในปีนั้น เมื่อเทียบกับตลาดแล้วถือว่า Alpha ลบ 6%
Alpha ส่วนใหญ่ใช้ในการประเมินผลงานของกองทุน ถ้าเป็นกองทุนรวม จะเทียบผลตอบแทนของกองทุนกับเกณฑ์มาตราฐานหรือตัวชี้วัด (Benchmark) หากเป็นกองทุนส่วนบุคคลอาจเทียบกับผลตอบแทนเป้าหมาย Alpha แสดงถึงฝีมือในการบริหารของผู้จัดการกองทุนโดยเฉพาะกองทุนประเภท Active Fund ที่มุ่งทำผลตอบแทนให้สูงกว่าตลาด หาก Alpha ต่ำหรือติดลบ แสดงว่าผู้จัดการกองทุนทำผลงานได้ไม่ดีหรือแย่กว่ากองทุน Passive Fund ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมการจัดการต่ำกว่าและได้ผลตอบแทนเท่ากับตลาด นักลงทุนอาจเปรียบเทียบค่า Alpha ของกองทุน Active Fund ต่างๆ เพื่อวัดฝีมือของผู้จัดการกองทุนแต่กอง
ข้อควรระวังในการคำนวนค่า Alpha คือ เกณฑ์มาตรฐานหรือตัวชี้วัด (Benchmark) ที่ใช้ ควรสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนหรือพอร์ตที่ลงทุนจริง เช่น พอร์ตที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นกับพอร์ตตราสารหนี้ระยะยาว ควรมี Benchmark ที่แตกต่างกัน พอร์ตผสมควรใช้ดัชนีของหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามสัดส่วนที่ลงทุนจริง
การใช้ Alpha ในการเปรียบเทียบผลงานระหว่างกองทุนควรใช้กับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบเดียวกัน เช่น เปรียบเทียบกองทุนหุ้นระหว่างผู้จัดการกองทุนต่างๆ ไม่ควรเปรียบเทียบกองทุนหุ้นกับกองทุนตราสารหนี้ หรือ กองทุนผสม หรือแม้แต่กองทุนหุ้นที่ลงทุนแตกต่างกัน เช่น กองทุนหุ้นไทยกับกองทุนหุ้นต่างประเทศ หรือ กองทุนหุ้นทั่วไปกับกองทุนหุ้นเฉพาะอุตสาหกรรม