Economic Research
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. 2021 เพิ่มขึ้น 2.17% YoY (vs. prev. 2.71%) แต่ลดลง -0.38% MoM (vs. prev. 0.28%)
ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค. 2021 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.29% YoY (vs. prev. 0.29%) และเมื่อเทียบรายเดือนเพิ่มขึ้น 0.05% MoM (vs. prev. 0.09%)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. 2021 ที่ปรับสูงขึ้น 2.17% YoY นั้นเป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่เริ่มปรับสูงขึ้นบ้าง แต่กระทรวงพาณิชย์มองว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (mkt. cons.มองที่ 2.51%) เนื่องจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันของภาครัฐ ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ ราคาผักสดยังอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนราคาเนื้อสุกร และไข่ไก่ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรปรับเพิ่มตามค่าบริหารจัดการโรคระบาดในสุกร ประกอบกับปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยลดปริมาณการเลี้ยงสุกร ด้านสินค้าอื่นๆเช่น น้ำมันพืช กับข้าวสำเร็จรูป และข้าวราดแกง ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนและวัตถุดิบ
ส่วนสินค้าที่ราคาปรับลดลงได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ส่วนสินค้าอื่น ๆ อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและปริมาณผลผลิต
ภาพรวมทั้งปีอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2021 ขยายตัวที่ 1.23% (vs. prev. -0.85% โดยกรอบประมาณการของกระทรวงพาณิชย์อยู่ที่ 0.8 – 1.2% ) ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.23% เป็นการขยายตัวเท่ากับปี 2020 ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 2021 ได้แก่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง, Supply Disruption, ราคาผักสดที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะน้ำท่วม ทั้งนี้พบว่าสินค้าบางประเภทราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบเช่น เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2022 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต, การขนส่ง, ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า, ปัจจัยด้านฐานต่ำ, และการขาดแคลนแรงงาน อันจะส่งผลต่อภาคการผลิตและสินค้าในหมวดอื่นๆ ตามไปด้วย
กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2022 จะอยู่ที่ 0.7- 2.4% โดยมีค่ากลางที่ 1.5% โดยที่มองว่า การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อไทยยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวน จำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยด้วยว่าจะได้รับแรงกดดันจาก COVID-19 หรือไม่และคงต้องประเมินกรอบประมาณการเงินเฟ้อไปตามสถานการณ์ในระยะข้างหน้า