โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®
ปีขาลทั้งที ต้องขานรับโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องของความรัก แต่ปุบปับงานที่เล็งๆ ไว้ก็เข้ามาเตะตาเราจนได้ และแล้วก็มีโอกาสได้ย้ายงานใหม่ ทั้งตื่นเต้นดีใจ แต่เอ๊ะ ที่ทำงานใหม่เรามีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยหรือเปล่า แล้วที่ทำงานตอนนี้ที่มีอยู่ต้องจัดการยังไง เพื่อไม่ให้เสียโอกาส เสียจังหวะการลงทุน มีคำแนะนำดังนี้ค่ะ
- กรณีที่ทำงานใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แบบนี้สบายเลยค่ะ ไม่ต้องกังวลเรื่องการสะสมเงินเพื่อการเกษียณ เพราะได้สะสมต่อเนื่อง แบบนี้เราสามารถแจ้งที่ทำงานปัจจุบันว่าต้องการโอนย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ โดยในช่วงทดลองงานกับที่ทำงานใหม่ จะยังไม่มีการส่งเงินสะสมต่อเนื่อง ดังนั้น เราก็ต้องคงเงินไว้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมโดยมีค่าธรรมเนียมการคงเงิน 500 บาทค่ะ
ส่วนใครที่ไม่อยากคงเงิน ไม่อยากโอนย้ายไปที่ทำงานใหม่ก็ไม่เป็นไรค่ะ เราสามารถโอนย้ายไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับการโอนย้ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ได้ (RMF for PVD) ซึ่งต้องไปหาว่าที่ไหนมีบ้าง แล้วก็มาแจ้งที่ทำงานเดิมเพื่อทำเรื่องโอนย้ายไป ซึ่งเงินส่วนนี้ก็เสมือนเป็นการลงทุนระยะยาวต่อเนื่องไป และเงินที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ก็เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ค่ะ
- กรณีที่ทำงานใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แหม ถ้าได้งานใหม่แล้ว มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยก็จะดีมากนะคะ แต่ถ้าที่ใหม่ไม่มีก็ไม่ต้องตกใจไปค่ะ ลองดูว่าจะจัดการยังไงกับเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมที่เรามีอยู่ ในกรณีนี้ สามารถจัดการได้ 2 วิธีด้วยกัน
วิธีแรกคือ ถ้าชอบนโยบายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมที่ลงทุนไว้ ก็สามารถคงเงินไว้ได้ แต่จะมีค่าธรรมเนียมการคงเงินปีละ 500 บาท แต่จะคงเงินได้นานกี่ปี แนะนำให้ตรวจสอบข้อบังคับของกองทุนด้วย เพราะบางบริษัทจะมีกำหนดเอาไว้ว่าให้คงเงินได้ 3 ปี 5 ปี หากเราจะคงเงินระยะยาวๆ อาจทำไม่ได้ จึงต้องไปต่อกันที่วิธีที่สองค่ะ
วิธีที่สองคือ การโอนเงินเข้ากองทุน RMF for PVD วิธีนี้ เราต้องไปหากองทุนแบบนี้ เลือกนโยบายที่เหมาะสมแล้วก็แจ้งโอนเงินเข้ากองทุน RMF for PVD เลยค่ะ ซึ่งการเลือกวิธีนี้ เมื่อครบอายุ 55 ปี แล้วมีการลงทุนตั้งแต่ครั้งแรกไม่น้อยกว่า 5 ปี ก็สามารถขายคืนได้ค่ะ
ส่วนใครที่อยากจะเอาเงินออกมาใช้แล้ว เพราะไหนๆ ก็ได้ย้ายงานใหม่ สามารถเอาเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ ในกรณีแบบนี้ ลองดูก่อนค่ะว่าเราต้องการใช้เงินจริงๆ หรือเปล่า เพราะเงินก้อนนี้เราตั้งใจจะเก็บเอาไว้ใช้หลังเกษียณ จึงควรนำไปลงทุนเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราต้องการค่ะ แต่ถ้าใครบอกว่าไม่ไหวแล้ว ต้องการนำเงินมาใช้หมุนเวียนช่วงนี้ ก็ต้องบอกว่าสามารถแจ้งเพื่อนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
แต่จะมีเงื่อนไขในเรื่องอายุงานที่เราทำงานอยู่จะมีผลกับการคำนวณเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยหากมีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี จะได้รับการยกเว้นแค่ในส่วนของเงินสะสมของเราเท่านั้น แต่อีก 3 ส่วนคือ ส่วนของเงินสมทบของนายจ้าง ผลประโยชน์เงินสมทบของนายจ้าง และผลประโยชน์เงินสะสมของเราจะต้องรวมคำนวณเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) หรือคิดรวมกับเงินเดือนของเราด้วยนั่นเอง
หากใครที่อายุงานมากกว่า 5 ปี สามารถแยกยื่นภาษีในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ แต่ยังไงก็ต้องนำ 3 ส่วน มาคำนวณ โดยจะมีส่วนลดให้โดยการนำ 7,000 คูณอายุงาน ได้เท่าไหร่ก็นำมาหักออกจากเงิน 3 ส่วน และหักได้อีก 50% เหลือเท่าไหร่ ก็นำมาคำนวณตามอัตราภาษี โดยที่ 150,000 บาทแรกไม่ได้รับการยกเว้น นั่นก็คือเริ่มเสียภาษีตั้งแต่บาทแรกนั่นเองค่ะ
ถ้าคิดจะเอาเงินออก อยากให้คิดดีๆ ก่อน ถ้าจะเอาเงินออกมาใช้ ขอให้เป็นเพราะเรื่องจำเป็นจริงๆ ถ้าไม่จำเป็นควรลงทุนต่อเนื่องค่ะ
ก่อนย้ายงาน อย่าลืมวางแผนเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ดีๆ กันก่อน ส่วนใครที่ที่ทำงานใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็อย่าลืมลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ที่สำคัญ เงินลงทุนยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วย ซึ่งกองทุน RMF มีหลากหลายนโยบายให้เลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน Healthcare ก็เลือกกองทุน BCARERMF อยากลงทุนในเทคโนโลยี ก็มี B-INNOTECHRMF อยากลงทุนในกองทุนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ก็มี B-SIPRMF ยิ่งทยอยลงทุนทุกเดือนด้วยวิธี DCA ก็ยิ่งสะสมหน่วยลงทุนให้มากขึ้น เพื่อเกษียณสบายในบั้นปลายค่ะ