IMF ประมาณการเศรฐกิจโลกขยายตัวที่ 3.9% ในปี 2018

IMF ประมาณการเศรฐกิจโลกขยายตัวที่ 3.9% ในปี 2018 และ 2019 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2017 ที่ขยายตัวที่ 3.8%

เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวเร่งขึ้นได้สูงกว่าระดับศักยภาพ ยุโรปยังได้แรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ส่วนสหรัฐฯจะได้รับแรงส่งจากการใช้จ่ายการคลังเชิงรุกซึ่งมีผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน ด้านเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่จะขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งทั้งจากฝั่งเอเชีย ยุโรป อย่างไรก็ดี IMF กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอลงในอีกสองสามปีข้างหน้าภายหลังจากที่ปีนี้ เศรษฐกิจโลกได้เดินหน้าเต็มกำลัง (Output Gap is Close หรือในทางเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าไม่จำเป็นต้องผลิตเพิ่มเพื่อเติมส่วนที่ขาดแล้ว) อัตราการขยายตัวในบางประเทศอาจจะขยับมาอยู่ในระดับที่ควรจะเป็น

สหรัฐฯ IMF มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวที่ 2.9% ในปี 2018 (ปี 2017 ขยายตัว 2.3%) ก่อนจะผ่อนกำลังมาที่ 2.7% ในปี 2019 เนื่องด้วยในปี 2018 สหรัฐฯจะได้รับอานิสงส์ด้านบวก (ระยะสั้น) จาก (1) การปฏิรูปภาษี (การปรับลดภาษี CIT และการขอยกเว้นภาษีส่วนของการลงทุนได้เต็มจำนวน), (2) งบประมาณประจำปี 2018 ที่เพิ่มงบรายจ่ายมากขึ้น (ขาดดุล -8.04 แสนล้านดอลลาร์ฯ) IMF กล่าวว่าแรงส่งทางการคลังจะช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯไปได้ถึงปี 2020

ยูโรโซน จะขยายตัวได้ที่ 2.4% ในปีนี้ (ปี 2017 ขยายตัว 2.3%) และ 2.0% ในปี 2019 โดยได้รับแรงหนุนจาก (1) อุปสงค์ภายในประเทศที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับ (2) นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ -0.4%) รวมทั้ง (3) การค้าระหว่างประเทศที่ยังรักษาโมเมนตัมได้จากปีที่แล้ว

ญี่ปุ่น IMF มองว่าญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ 1.2% ในปี 2018 (ต่ำกว่าปี 2017 ที่ 1.7% แต่ยังขยายตัวเกินแนวโน้มระยะยาว) ก่อนที่จะชะลอมาที่ 0.9% ในปี 2019 โดย IMF มองว่าปัจจัยสนับสนุนได้แก่ (1) การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดี และ (2) เม็ดเงินจากงบประมาณเพิ่มเติม (Supplementary Budget)มูลค่า 2.7 ล้านล้านเยน แต่ IMF ญี่ปุ่นยังเผชิญความท้าทายจาก Ageing Society ที่จะมีผลให้ผลิตภาพจากแรงงานลดลง

จีน จะขยายตัวที่ 6.6% ในปี 2018 (จาก 6.9% ในปี 2017 ) และ 6.4% ในปี 2019 โดยจีนจะได้รับอานิสงส์จากการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก

อินเดีย จะขยายตัวที่ 7.4% ในปี 2018 (จาก 6.7% ในปี 2017 ) และ 7.8% ในปี 2019
หนุนโดยการบริโภคในประเทศภายหลังจากผลกระทบการทำ Demonetization และการปรับขึ้นภาษี GST เริ่มจางหายไป

สำหรับประเทศไทยนั้น IMF มองว่า GDPในปี 2018-19 จะขยายตัวที่ 3.9% และ 3.8% ตามลำดับ เป็นมุมมองที่ดีขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการประมาณการ GDP ไทยจากสำนักประมาณการในประเทศ สำหรับกองทุนบัวหลวงเรามองว่า GDP ไทยปี 2018 จะขยายตัวที่ 4.1% โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนและการส่งออกเป็นหลัก