Fund Comment มกราคม 2565 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment มกราคม 2565 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือน ม.ค. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 1 bps ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 2 ปีขึ้นไป ปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ถึง 24 bps ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Fed Funds Rate) และการลดขนาดงบดุล (QT) จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง รวมถึงตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และเงินเฟ้อขยายตัวเหนือเป้าหมาย 2% กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น

โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ณ สิ้นเดือน ม.ค. อยู่ที่ 1.79% ปรับเพิ่มขึ้น 27 bps จากสิ้นเดือนก่อน ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.13% ปรับเพิ่มขึ้น 24 bps ด้านปัจจัยในประเทศ เศรษฐกิจไทยที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะอันใกล้นี้มีจำกัด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ

ด้านเงินลงทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เป็นมูลค่าสุทธิ 69,580 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 37,400 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) 41,505 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้ครบกำหนดอายุ 9,323 ล้านบาท

สำหรับผลการประชุมธนาคารกลางหลักในเดือนนี้ ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มีมติคงนโยบายการเงินตามเดิมในการประชุมวันที่ 17-18 ม.ค. โดยมีมติ 8 ต่อ 1 คงเป้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ใกล้ 0% รวมทั้งมีมติเป็นเอกฉันท์คงเป้าการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ BoJ ยังปรับเพิ่มประมาณการ GDP ในปีนี้ เป็น 3.8% จากประมาณการเดิมที่ 2.9% และปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.1% จากเดิมที่ 0.9% และปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.1% จากเดิมที่ 1.0% อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อยังคงห่างไกลจากเป้าหมายที่ 2% สะท้อนว่านโยบายการเงินของญี่ปุ่นจะยังคงผ่อนคลายอย่างมากเป็นเวลานาน

ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 คงนโยบายการเงินไว้ตามเดิมในการประชุมวันที่ 25-26 ม.ค. อย่างไรก็ตาม Fed ส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่จะเข้มงวดขึ้นอย่างชัดเจน โดยการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Taper) จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. นี้ และระบุว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะอันใกล้นี้อาจมีความเหมาะสม นอกจากนี้ Fed ยังได้มีการพิจารณากันในที่ประชุมเกี่ยวกับการลดขนาดงบดุล (QT) และได้มีการเปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้นว่าจะทำผ่านการยุติการเข้าซื้อคืนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดอายุ โดยจะเริ่มต้นกระบวนการดังกล่าวหลังจากปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และจะลดขนาดงบดุลลงอย่างมีนัย

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป กองทุนบัวหลวงคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะยังทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งคาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปีนี้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวยังคงเคลื่อนไหวตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่คาดว่ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้อีก

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในเดือน ก.พ. ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 3 และการประชุม กนง. ในวันที่ 9 รวมทั้งติดตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ