โอกาสของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ผ่านหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็ก

โอกาสของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ผ่านหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็ก

สรุปความสัมภาษณ์

เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

ถ้าพูดถึงหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็คือหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ไม่เกิน 80,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นนิยามที่ใช้กันในสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และเป็นกรอบการลงทุนของหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กของกองทุนหลายๆ กองทุน รวมทั้งของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง หรือ BBLAM ด้วย

ในตลาดหุ้นไทยมีหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กอยู่มาก ซึ่งแต่เดิมคนมักจะมีความกังวลและมองภาพของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai ซึ่งมีความผันผวน แต่จริงๆ หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กไม่ได้มีอยู่แค่นั้น

ถ้าดูข้อมูลสิ้นปี 2564 เราจะพบว่า ตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่เกิน 80,000 ล้านบาท เพียง 56 บริษัทเท่านั้น แล้วก็มีหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งเรียกว่าเป็นหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ mai รวมกันถึง 767 บริษัท ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่ากองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กหรือว่าลักษณะการลงทุนเช่นนี้จะไม่มีหุ้นให้เลือกลงทุน เพราะหุ้นมีจำนวนมากและหลากหลาย

ส่วนสาเหตุที่ BBLAM ให้ความสนใจกับการลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กเพิ่มเติมนั้น เราอยากจะให้ทุกคนมองไปที่ภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก่อน โดยปัจจุบันไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บริษัทขนาดใหญ่ของไทยจำนวนมาก เป็นบริษัทเก่าแก่ที่อยู่มานาน แม้จะมีโครงสร้างที่แข็งแรง มีศักยภาพเติบโต แต่ส่วนมากก็เป็นธุรกิจรูปแบบเก่า (old economy) อิงกับเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งถ้าผ่านพ้นช่วงของการเติบโต และผ่านพ้นสถานการณ์โควิดไปแล้ว การเติบโตในอนาคตระยะยาวอาจจะมีค่อนข้างจำกัด อาจจะทำให้โอกาสของการปรับขึ้น (upside) ของดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยไปไหนได้ไกล ด้วยประเด็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจและธุรกิจ

ดังนั้นการลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนของตลาดในระยะยาว ก็จำเป็นที่จะต้องหันมาดูหุ้นกลุ่มที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือการเติบโตในอนาคต สามารถปรับตัวได้เร็ว สามารถสร้าง S-Curve หรือธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่โดยรอบที่เป็นลูกค้าเป้าหมาย

หุ้นเหล่านี้ก็จะเป็นหุ้นของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็คือบริษัทยังไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก ผู้บริหารอาจจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ แล้วก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลง สามารถสร้าง S-Curve สร้างโครงสร้างธุรกิจใหม่ได้ที่จะสอดคล้องกับการเติบโตในอนาคต ไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ แต่จะเห็นว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก 767 บริษัท ณ สิ้นปี 2564 ไม่ได้หมายความว่าทุกบริษัทจะเป็นเช่นนี้ ดังนั้นก็จำเป็นต้องมีการคัดเลือก พิจารณาดูกิจการ ดูพื้นฐานแบบเจาะลึก เพื่อให้การลงทุนตอบโจทย์ของการสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้ และลงทุนไปกับธุรกิจที่สอดคล้องกับเทรนด์ในอนาคต

อย่างไรก็ตามการลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่ใช่ว่าหุ้นทุกตัวจะสามารถลงทุนได้ โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมีการปรับตัวขึ้นมาพอสมควร และหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยบางบริษัทแพงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ อีก ทั้งที่การเติบโตยังเทียบไม่ได้

โดยบ่อยครั้ง เราพบว่า ปัจจัยขับเคลื่อนหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก มาจากข่าวเป็นสำคัญ เช่น การไปทำธุรกิจใหม่ การปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ การจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทต่างๆ ซึ่งหลายอย่างเป็นเพียงข่าวที่คาดการณ์ในอนาคตได้ยาก โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ เมื่อเทียบกับการประเมินธุรกิจดั้งเดิม หรือธุรกิจที่บริษัทนั้นๆ ทำอยู่ ดังนั้นการลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กจำเป็นจะต้องคัดเลือกมากๆ ใช้ผู้จัดการกองทุนที่ติดตามและวิเคราะห์ดูพื้นฐานของกิจการนั้นจริงๆ ซึ่งก็เป็นสไตล์ของ BBLAM อยู่แล้ว

เพราะกระบวนการลงทุนของ BBLAM มุ่งเน้นที่การวิเคราะห์กิจการ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดผลตอบแทนจากการลงทุน ด้วยความเชื่อว่า หากลงทุนในกิจการบริษัทที่ดี ประกอบกับการเข้าซื้อในราคาที่เหมาะสมจะนำไปสู่ผลตอบแทนที่ดี หรือก็คือ Good Stock + Good Trade = Good Performance

ในส่วนของ Good Stock ก็จะมีเรื่องของธรรมาภิบาลด้วย ซึ่งเป็นเกณฑ์หนึ่งที่ BBLAM นำมาใช้พิจารณาคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตลงทุนด้วย เพราะเราเชื่อว่าหากกิจการให้ผลตอบแทนที่ดี ถ้าผู้บริหารไม่มีธรรมาภิบาล ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการรักษาความยั่งยืนของธุรกิจ ผลกำไรก็อาจฉาบฉวย ชั่วคราว หรือเป็นภาพลวงตาได้ จึงเป็นสิ่งที่ BBLAM ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเราโฟกัสไปที่หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง และความเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ในอนาคต