วิกฤตยูเครน…ปัจจัยเพิ่มความผันผวนและความกังวลระยะสั้น

วิกฤตยูเครน…ปัจจัยเพิ่มความผันผวนและความกังวลระยะสั้น

Economic Research

 

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน และชาติพันธมิตรนาโต ได้เพิ่มความตึงเครียดขึ้นอีกระดับหลังช่วงเช้าของวันที่ 24 ก.พ. รัสเซียประกาศใช้ปฏิบัติการทางทหารในภูมิภาคดอนบัส (ส่วนหนึ่งของยูเครนที่รัสเซียให้การรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 21 ก.พ.) โดยเกิดเสียงระเบิดดังขึ้นหลายครั้งในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ส่งผลให้ขณะนี้หลายประเทศออกมาคว่ำบาตรรัสเซีย นำโดยสหรัฐฯ ที่ประกาศมาตรการคว่ำบาตรกับนักธุรกิจชั้นนำและสถาบันการเงินของรัสเซียไปแล้วบางส่วน ขณะที่ในระยะถัดไป เรามองว่าสหรัฐฯ มีทางเลือกที่จะยกระดับการคว่ำบาตรได้อีก รวมถึงอาจนำไปสู่ปฏิบัติการทางทหารที่เข้มข้นมากขึ้นในยูเครนหากสถานการณ์เลวร้ายกว่านี้

มาตรการคว่ำบาตรและความเป็นไปได้ของการยกระดับความรุนแรง

เมื่อความขัดแย้งใดที่มีรัสเซียอยู่ในสมการ ก็จะสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งกลุ่มเกษตร โลหะ และพลังงาน เนื่องด้วยรัสเซียเป็นผู้ผลิตหลัก เหตุการณ์นี้จึงได้เพิ่มความผันผวน และความไม่แน่นอนต่อตลาดที่หวั่นไหวเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่แล้ว นักลงทุนส่วนหนึ่งจึงวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Assets) ไม่ว่าจะเป็นเยน สวิสฟรังก์ ทองคำ หรือแม้กระทั่งค่าเงินบาท โดยเราคาดว่าเมื่อเหตุการณ์ความขัดแย้งสงบลง ตลาดจึงพร้อมที่จะเข้าสู่ Risk-on Mode อีกครั้ง

สกุลเงินเยน สวิสฟรังก์ ทองคำ หรือแม้กระทั่งค่าเงินบาท กลายเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

สำหรับผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ความไม่สงบนั้นจะขึ้นอยู่กับ 1) ความเข้มข้นของมาตรการคว่ำบาตรและ 2) ความยืดเยื้อและความรุนแรงของเหตุการณ์ความไม่สงบ Bloomberg ได้จัดทำ Scenario Analysis เพื่อฉายภาพความเป็นไปได้ของผลกระทบภายในความเข้มข้นของสถานการณ์ที่ต่างกันดังแสดงด้านล่าง

ผลกระทบโดยตรงจะอยู่ในกลุ่มของประเทศที่เกี่ยวข้อง

หากความไม่สงบนี้จบได้เร็ว ผลกระทบที่จะส่งต่อไปยังระดับราคาพลังงานและนำไปสู่ความผันผวนเชิงการเงินก็จะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ แต่หากมาตรการคว่ำบาตรถูกยกระดับขึ้นและเป็นผลให้การขนถ่ายพลังงานหยุดชะงักก็อาจจะส่งผลกระทบต่อยุโรปที่ต้องแบกรับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และในกรณีเลวร้ายคือสงครามปะทุยืดเยื้อยาวนาน นานาประเทศคว่ำบาตรรัสเซียในหลายรูปแบบ ก็อาจจะเป็นความเสี่ยงด้านลบที่ผลักดันให้เศรษฐกิจรัสเซียเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเบื้องต้นนั้น Scenario Analysis มุ่งเน้นการคาดคะเนผลกระทบทางตรงระหว่าง รัสเซีย ยุโรปและสหรัฐฯเป็นหลัก ส่วนผลกระทบทางอ้อมที่อาจจะเกิดกับประเทศอื่นๆ น่าจะเป็นผลกระทบผ่านช่องทางของระดับราคาพลังงาน ซึ่งประเทศที่มีความอ่อนไหวต่อราคาพลังงานคือประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลักเช่น อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นตามลำดับ

อินเดีย เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าพลังงานในสัดส่วนสูง

นเบื้องต้นกองทุนบัวหลวงยังไม่เปลี่ยนประมาณการเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ใน Coverage