กิจกรรมการผลิตของโรงงานในเอเชียฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในเดือนกุมภาพันธ์ ท่ามกลางสัญญาณของไวรัสโคโรนาที่มีผลกระทบต่อธุรกิจน้อยลง ขณะที่วิกฤติในยูเครนกลายเป็นความเสี่ยงใหม่ที่อาจส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานและกดดันให้ต้นทุนแพงขึ้นไปอีก
การคว่ำบาตรของนานาชาติที่มีต่อรัสเซีย เพื่อตอบโต้กรณีที่รัสเซียโจมตียูเครน ทำให้ตลาดสั่นสะเทือนและราคาน้ำมันปรับขึ้น สร้างความปวดหัวให้กับเศรษฐกิจเอเชียและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
Philip Lowe ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย กล่าวว่า สงครามในยูเครนเป็นประเด็นหลักใหม่ของความไม่แน่นอน ซึ่งธนาคารกลางออสเตรเลียก็รักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำไว้อยู่
ความขัดแย้งทางฝั่งตะวันออกของยุโรป กลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลก โดยตัวชี้วัดในเดือนกุมภาพันธ์แสดงให้เห็นว่า ภาวะต่างๆ ค่อยๆ ดีขึ้น ก่อนที่จะรุนแรงขึ้นเมื่อเจอวิกฤติอีกครั้ง
ผลสำรวจโรงงานในจีน ทั้งจากฝั่งทางการและเอกชน สะท้อนว่ากิจกรรมยังคงขยายตัว ชี้ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก ท่ามกลางแรงกดดันด้านต้นทุน
ขณะที่กิจกรรมการผลิตก็ขยายตัวในมาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ หลังจากมีการกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง แม้ว่าจะมีไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของกิจกรรมการผลิตในญี่ปุ่นเติบโตช้าลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากการควบคุมโควิดอย่างต่อเนื่องและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
ส่วนการขยายตัวของกิจกรรมในไต้หวันและอินโดนีเซียส่งสัญญาณให้เห็นถึงผลกระทบของห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักที่มีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาด
Toru Nishihama หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Dai-ichi Life Research Institute ในโตเกียว กล่าวว่า แรงกระแทกส่วนใหญ่ที่เกิดจากวิกฤตินี้ จะมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจเอเชียหลายประเทศ โดยรัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของกลุ่มก๊าซ โลหะหายาก และสินค้าอื่นๆ ที่สำคัญกับการผลิตชิป หมายความว่าวิกฤตินี้อาจจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ซึ่งเป็นข่าวร้ายกับประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน
ที่มา : Reuters