มุมมองต่อกองทุน
แม้ว่า ระดับ P/E ตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับประมาณการกำไรปี 2561 ยังอยู่ที่ระดับมากกว่า 16.5 เท่า นับว่าตึงตัวพอสมควร แต่ว่าระดับ Valuation ของหุ้นในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นมีความแตกต่างกัน จึงมีหุ้นไทยบางส่วนที่ยังมีความน่าสนใจลงทุนอยู่ ขณะที่บางกลุ่มก็มีราคาแพงเกินพื้นฐาน ในภาวะเช่นนี้ การเลือกหุ้นเป็นรายตัวจะมีความสำคัญมาก แม้ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจจะบอกถึงแนวโน้มว่าจะค่อยๆ ฟื้น และหุ้นบางกลุ่มยังที่ผลประกอบการขยายตัวได้ เป็นโอกาสให้การลงทุนในตราสารทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมีปัจจัยพื้นฐานดี ซึ่งผู้จัดการกองทุนคาดหมายว่าจะให้ผลตอบแทนรวมสูงสุด 10 อันดับแรก จึงน่าที่จะสามารถแสวงหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้
สำหรับนโยบายการลงทุนของกองทุนเปิดบัวหลวงทศพลนั้น ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกหุ้นเป็นรายตัวเพียงแค่ 10 ตัว โดยเน้นลงทุนในระยะกลาง-ยาว ซึ่งคาดหวังว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงเป็นลำดับต้นๆ และผ่านกระบวนวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มเติบโตของกำไรและสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ ที่ผ่านมาบัวหลวงทศพลให้ผลตอบแทนในรอบ 10 ปีเฉลี่ยต่อปี (ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2561) คิดเป็น 13.74% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน SET Index ที่ 8.39% ก็เพราะกองทุนฯลงทุนในหุ้นเพียง 10 ตัว ทำให้หุ้นที่ลงทุนมีน้ำหนักกว่า market weight มาก จึงให้ผลตอบแทนโดดเด่น เมื่อตลาดยอมจ่ายให้กับมูลค่าที่แท้จริง แม้ในแง่ความเสี่ยงแล้ว
กองทุนเปิดบัวหลวงทศพลจะเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพราะลงทุนกระจุกแค่หุ้นเพียง 10 ตัวเท่านั้น (เรียกว่าเสี่ยงสูงกว่ากองทุนอื่นๆ ที่ลงทุน 25-40 ตัว) แต่เรามีทีมจัดการกองทุนซึ่งเข้าใจโมเดลธุรกิจของหุ้นที่ลงทุนได้อย่างถ่องแท้ ประกอบกับประเมินมูลค่าแท้จริงได้เหมาะสม นั่นก็ช่วยลดความเสี่ยงไปได้ระดับหนึ่งแล้ว
สรุปได้ว่ากองทุนเปิดบัวหลวงทศพลเน้นหนักลงทุนในระยะกลาง-ยาว และยังไม่เน้นว่าผลตอบแทนต้องชนะ SET แต่คาดหวังไปที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น ที่ทีมจัดการกองทุนเลือกลงทุนมากกว่า สุดท้ายแล้วตลาดจะรับรู้มูลค่าที่แท้จริง นำมาสู่ผลตอบแทนที่จะเป็นรางวัลอันยอดเยี่ยมสำหรับผู้อดทนรอคอยอย่างไม่หวั่นไหว
ทั้งนี้หากพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมจะพบว่า:-
หุ้นกลุ่มพาณิชย์-ได้แรงบวกจากการบริโภคที่เติบโตไปพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น อีกทั้ง กำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากบริโภคเองในประเทศและจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกลยุทธ์ขยายสาขาของบริษัทในเครือ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค ผลประกอบการของบริษัทย่อมเติบโต
หุ้นกลุ่มพลังงาน/สาธารณูปโภค-บริษัทในกลุ่มนี้มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และถือเงินสดไว้มาก พร้อมทั้งเฟ้นหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ ตามแนวโน้มการขยายตัวของเมือง และความต้องการของชนชั้นกลางที่เติบโตต่อเนื่อง
หุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง-ความต้องการปูนซีเมนต์ยังเติบโต เนื่องด้วยชุมชนเมืองกำลังขยายตัว อีกทั้งได้แรงหนุนจากเมกะโปรเจ็กต์ในประเทศ ซึ่งจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการลงทุนด้านนี้ในประเทศ Emerging Markets ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน
หุ้นกลุ่มบริการ (การแพทย์)
1.ประเทศไทยพร้อมเป็น Medical Hub of Asia เพราะมีข้อได้เปรียบด้านการบริการที่ดี ค่ารักษาพยาบาลสมเหตุสมผล ตามคุณภาพการให้บริการระดับสากลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI มากที่สุดในกลุ่มประเทศโซนเอเซีย
2.กลุ่มโรงพยาบาลยังเติบโตต่อเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้เดินทางเข้ามารักษาตัวจากกลุ่มประเทศอาเซียน
3.ค่ารักษาพยาบาลยังเติบโตตามความยากของการรักษา แนวโน้มกำไรของโรงพยาบาลย่อมสูงขึ้น
4.การที่คณะกรรมการประกันสังคมมีมติปรับเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาที่เปิดรับผู้ประกันตน การเพิ่มค่าบริการดังกล่าว จะส่งผลดีกับโรงพยาบาลให้มีรายได้มากขึ้น
หุ้นกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์-ธุรกิจขนส่งมีแนวโน้มเติบโตจาก
1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง
2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนช่วยเพิ่มตลาดของธุรกิจขนส่ง
3) การลดต้นทุนของผู้ประกอบการและการเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไร
4) การเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ
หุ้น 5 อันดับแรกที่กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล (BTP) ลงทุน ณ วันที่ 30 มีนาคม 2561
TOA: บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบผิวให้กับกลุ่มผู้ใช้งานประเภทลูกค้าทั่วไป โดยแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ผลิตภัณฑ์สีทาอาคาร 2. ผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบผิวและผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบผิวสำหรับงานไม้ ผลิตภัณฑ์เคมีก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์สีที่มีความทนทานสูง และ ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์
จุดเด่น:
1) ทีโอเอมีส่วนแบ่งตลาดสีในประเทศไทยประมาณ 48-49% และในกลุ่มประเทศอาเซียนมีส่วนแบ่งตลาด 13-14%
2) แผนงานของทีโอเอพยายามเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศให้มากขึ้น ด้วยการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปเปิดโรงงานเพิ่มในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา และกัมพูชา ขณะที่ตลาดเวียดนาม ก็มีอัตราการเติบโตที่ดีมาก
BDMS: บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศ มีโรงพยาบาลเครือข่ายในไทยและกัมพูชา ดำเนินธุรกิจในชื่อโรงพยาบาล 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล และกลุ่มโรงพยาบาลรอยัล พร้อมทั้งยังประกอบธุรกิจสนับสนุนด้านการแพทย์ ได้แก่ ธุรกิจห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ธุรกิจผลิตยา ธุรกิจผลิตน้ำเกลือ และร้านขายยา เป็นต้น
จุดเด่น
1) ความต้องการใช้บริการของผู้ป่วยชาวไทยและต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น
2) เครือข่ายโรงพยาบาลเข้มแข็ง โรงพยาบาลทั้ง 41 แห่ง กระจายในทำเลที่โดดเด่นทั่วประเทศและต่างประเทศ
3) มุ่งเน้นรักษาโรคที่ซับซ้อนทำให้เกิดผลดีต่อกำไรในอนาคต
4) ได้รับประโยชน์จากการที่คณะกรรมการประกันสังคมมีมติปรับเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลที่เข้าร่วม
CPALL: บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven และพร้อมให้สิทธิแก่ผู้ค้าปลีกรายอื่น ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และลงทุนในธุรกิจสนับสนุนร้านค้าสะดวกซื้อ อาทิ ผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปและเบเกอรี่ ตัวแทนรับชำระเงิน รวมถึงลงทุนในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเองภายใต้ชื่อ “แม็คโคร”
จุดเด่น
กำไรในปีนี้ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้นำตลาดและเน้นกลุ่มอาหารที่ผันผวนต่ำ
GPSC: บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท.จัดตั้งขึ้นเมื่อ 10 มกราคม 2556 จากการควบรวมระหว่าง PTTUT และ IPT เพื่อให้เป็นแกนนำดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในกลุ่ม ปตท. ธุรกิจหลักของบริษัทคือผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำอุตสาหกรรมให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมและ กฟผ. โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 1,038 เมกะวัตต์ กำลังผลิตไอน้ำทั้งสิ้น 1,340 ตันต่อชั่วโมง และน้ำอุตสาหกรรม 850 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
จุดเด่น
1) มีแผนลงทุนเพื่อขยายโรงไฟฟ้าไปยังต่างประเทศ อาทิ พม่า ลาว และอินโดนีเซีย โดยลงทุนในโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน นอกเหนือโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงซึ่งดำเนินการในประเทศ
2) มีรายได้จากธุรกิจที่เติบโตสม่ำเสมอ โดยรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. กฟภ. และ กฟน.นั้น มาจากสัญญาซื้อขายระยะยาวที่กำหนดปริมาณและสูตรราคารับซื้ออย่างแน่นอน
BEM: บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) กับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ตามมติคณะรัฐมนตรี 8 ธันวาคม 2558 เพื่อดำเนินธุรกิจคมนาคมขนส่งที่เป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยบริษัทแห่งนี้เป็นคู่สัมปทานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บริษัทดำเนินงานก่อสร้างและบริหารทางพิเศษ รวมทั้งบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง
จุดเด่น:
1) ควบรวมจากธุรกิจเดิมที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว BECL เป็นบริษัทเอกชนรับสัมปทานให้บริการทางพิเศษเพียงแห่งเดียวในประเทศ ขณะที่ BMCL เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวเช่นกัน
2) ฐานะการเงินหลังควบรวบแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
3)โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่จะสนับสนุนธุรกิจทั้งในแง่ก่อสร้าง คู่สัญญา สถาบันการเงิน ทำให้บริษัทฯพร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยรับงานด้านคมนาคมในทุกรูปแบบและในทุกภูมิภาค