กองทุนเปิดบัวหลวงทศพลลงทุนตามแนวคิด 2 ด้าน คือ
Top-down Approach เป็นการหา Investment Theme โดยเน้นมุมมองในระยะยาว โดยประเมินภาพรวมเศรษฐกิจและรายอุตสาหกรรมว่ามีโอกาสและศักยภาพในการเติบโตอย่างไร และเลือกกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มขาขึ้น แล้วจึงเฟ้นหาหุ้นที่มีโอกาสจาก Theme ดังกล่าว
Bottom-up Approach เพื่อค้นหาบริษัทที่จะเข้าลงทุนที่มีมูลค่าพื้นฐานต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หรือ หุ้นที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนรวมที่สูงสุด โดยให้ความสำคัญในการพิจารณา โมเดลธุรกิจ ความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ต่อเนื่อง มีความแข็งแรงของงบดุล ความรู้ความสามารถของผู้บริหาร และประสบการณ์ด้านการบริหาร เป็นต้น โดยพิจารณาทั้ง เชิงปริมาณและคุณภาพ
กองทุนบัวหลวงสร้างพอร์ตลงทุนให้แต่ละกองทุนฯ ด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์และคัดสรร (Thinking and selection process) พร้อมทั้งมีทีมเวิร์คที่ดี ช่วยกันหาไอเดียใหม่และแบ่งปันแนวคิดร่วมกัน รวมถึงทบทวนข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนั้นเรายังมี Element of LUCK (Labour Under Correct Knowledge) หรือทำงานภายใต้ความรู้ที่ถูกต้องอีกด้วย
จุดเด่นของกองทุน
กำหนดนโยบายลงทุนโดยให้ความสำคัญกับการคัดเลือกหลักทรัพย์เป็นรายตัวเพียง 10 หลักทรัพย์ โดยเน้นลงทุนในระยะกลาง-ยาว ซึ่งคาดหวังว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงเป็นลำดับต้นๆ ทั้งนี้หุ้นทั้งสิบที่จัดไว้ในพอร์ต ต้องผ่านการวิเคราะห์แล้วว่ามีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มเติบโตของกำไร และมีความสามารถที่จะสร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ
มุมมองต่อตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยมีการปรับฐานในเดือนมีนาคม โดยเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways เกือบตลอดทั้งเดือน โดย SET Index ปรับตัวลงต่ำสุดที่ 1,724 จุดก่อนจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้บ้าง โดยปัจจัยลบที่มีเข้ามาในระหว่างเดือน ได้แก่ การประกาศปรับลดค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ซึ่งทำให้หุ้นกลุ่มกลุ่มธนาคารปรับตัวลง และประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันนั้นเป็นผลบวกต่อราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ตลาดมีการฟื้นกลับขึ้นมาได้ สำหรับหุ้นขนาดกลางหรือเล็กส่วนใหญ่นั้นให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนักในช่วงเดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผลประกอบการในไตรมาส 4/2560 ที่ไม่โดดเด่นนักและทำให้มีแรงขายหุ้นบางตัวโดยเฉพาะหุ้นที่ราคาแพงกว่าปัจจัยพื้นฐานออกมา
ตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีการปรับฐาน จากความกังวลประเด็นสงครามการค้าที่ได้กล่าวไปข้างต้น อีกส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณชะลอตัวลงในบางภาคส่วน หลังจากที่ขยายตัวได้ดีมาหลายไตรมาส แต่โดยรวมนับว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกนั้นเริ่มยืนระดับได้ โดยอาจจะมีข่าวลบที่เกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนออกมาเพิ่มเติมเป็นพักๆ ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนบ้าง และตลาดหุ้นในภูมิภาคอาจจะเคลื่อนไหวแบบ Sideways สักระยะหนึ่งก่อนจะทยอยปรับตัวขึ้นได้ ประเด็นที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ นั้นเชื่อว่า ไม่น่ามีผลกระทบเชิงลบมากนักเพราะตลาดได้รับรู้ไปมากแล้ว
โดยภาพรวมแล้ว เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะยืนระดับได้ดีขึ้น โดยอาจจะยังมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่โอกาสที่ตลาดจะปรับตัวขึ้นได้มากนั้นยังค่อนข้างจำกัด เนื่องด้วยความตึงตัวของ Valuation ของหุ้น Big cap ประกอบกับการขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ ในภาพกว้าง การเลือกลงทุนหุ้นเป็นรายตัวจึงมีความสำคัญมาก และการที่ตลาดจะปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอาจจะต้องรอให้มีปัจจัยใหม่หรือเห็นสัญญาณการขยายตัวของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีนัยสำคัญมากกว่านี้
ปัจจัยทั้งบวก/ลบต่อกองทุน
(+) แรงหนุนจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ มาตรการภาครัฐยังเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญ หลัง ครม.เห็นชอบร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบ 2561 กว่า 1.5 แสนล้านบาทเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ปฏิรูปภาคเกษตร พัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพชุมชน ส่วนการบริโภคคาดว่าจะยังทรงตัวตามรายได้ภาคเกษตรที่ยังอ่อนแอเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญส่วนใหญ่ราคาถูก โดยรัฐมีมาตรการหนุนเศรษฐกิจฐานรากระยะที่ 2 ที่ช่วยประคองการขยายตัวได้ระดับหนึ่ง
(+/-) ทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์การค้าต่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง ตามการตอบโต้มาตรการทางภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก สำหรับหุ้นไทยผลกระทบจากความกังวลดังกล่าวถือว่ามีน้อย ถ้าไม่มีการกีดกันการค้าใหม่เข้ามาเพิ่ม เพราะไทยมีปัจจัยเฉพาะตัวในแง่พื้นฐานที่เป็นบวก(-) ความกังวลสงครามการค้ากดดันตลาดหุ้น ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน และจีนก็ได้มีการตอบโต้ในการเตรียมเก็บภาษีสินค้าราว 128 รายการ จากสหรัฐฯด้วยเช่นกัน
(-) ปัจจัยด้านการเมืองเริ่มกลายเป็นปัจจัยบั่นทอนบรรยากาศด้านการลงทุนภาคเอกชน จากความกังวลว่าการเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไปหลังเดือน ก.พ. 2562 เนื่องจากรัฐบาลระบุว่าควรให้ สนช. ส่งร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อความชัดเจนในข้อกฎหมาย แม้ สนช. มีมติเห็นชอบแล้วก็ตาม