BF Economic Research
ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 40bps ในการประชุมนอกรอบวันที่ 2-4 พ.ค. ที่ผ่านมา เร็วกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับขึ้นในการประชุมเดือนมิ.ย. โดยหลังผลการประชุมประกาศออกมาเมื่อวานส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอินเดียอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 7.41% ขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง และค่าเงินรูปีอ่อนค่า
Das ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย กล่าวว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางอินเดียได้พิจารณาถึงแนวโน้มเงินเฟ้อ และมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม นอกจากนี้ RBI ยังเล็งเห็นว่า การใช้นโยบายการเงินเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในปัจจุบันจะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน ท่ามกลางตลาดการเงินที่ผันผวนในขณะนี้
ในเดือนมี.ค. อัตราเงินเฟ้ออินเดียปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 7%YoY ซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 17 เดือน และเกินเพดานกรอบเป้าหมายของ RBI ที่ 6% มาเป็นเดือนที่สามแล้ว และสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 6.35%
หากย้อนไปในการประชุม RBI เดือนเม.ย. RBI มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Repo Rate และ Reverse Repo Rate ไว้ที่ 4.0% และ 3.34% ตามลำดับ แต่ได้มีการนำอัตรา Standing Deposit Facility มาใช้แทน Reverse Repo Rate โดยกำหนดไว้ที่ 3.75% และมีการส่งสัญญาณว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เนื่องจากหันมาให้ความสำคัญกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ RBI ได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อขึ้นจากเดิม 4.5% เป็น 5.7% สำหรับปีงบประมาณ 2022/23 และปรับลด GDP ลงจาก 7.8% เป็น 7.2%
การปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย 40bps นี้ส่งผลให้ปัจจุบัน Repo Rate อยู่ที่ 4.4% และอัตรา Standing Deposit Facility อยู่ที่ 4.15% และในการประชุมเดือนมิ.ย. นี้มีความเป็นไปได้ที่ RBI จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้ตลาดคาดว่าปลายปีดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 4.75-5.0% โดยเรามองว่าเริ่มมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นไปสูงกว่านี้ หากเงินเฟ้อยังยืนเหนือ 6% ต่อเนื่อง