BBLAM Monthly Economic Review : จับตาเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน 3 กลุ่มประเทศใหญ่

BBLAM Monthly Economic Review : จับตาเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน 3 กลุ่มประเทศใหญ่

สรุปความสัมภาษณ์

ฐนิตา ตุมราศวิน
ทีม Economic Research
BBLAM

ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจสำหรับเศรษฐกิจยูโรโซน ญี่ปุ่น และอินเดีย ในเดือนพฤษภาคม 2022 นี้ ได้แก่ เงินเฟ้อ และทิศทางนโยบายการเงินของแต่ละประเทศที่มีทิศทางแตกต่างกัน

ยูโรโซน

ตัวเลข GDP ที่เพิ่งประกาศออกมาล่าสุดในไตรมาสแรกปี 2022 ขยายตัว 0.2% เมื่อเทียบกับ GDP ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดไว้ ส่วนความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession คือการที่ GDP รายไตรมาสติดลบติดต่อกันตั้งแต่ 2 ไตรมาสขึ้นไป ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอยู่ โดยเฉพาะหากยูโรโซนห้ามนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

แต่ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ อัตราเงินเฟ้อที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น จะไปกดดันการบริโภคในยูโรโซนให้ชะลอตัว แม้เราจะมองว่ามีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะขึ้นไปถึงระดับสูงสุดในช่วงกลางปีนี้ แต่ว่าสถานการณ์ขึ้นอยู่กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งตอบได้ยากว่าจะจบลงเมื่อไหร่ อย่างน้อยเรามองว่าระดับราคาสินค้าและบริการน่าจะยังสูงอยู่ในปีนี้ ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังจึงยังไม่เห็นภาพที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเร็ว จนไปแตะระดับ 2%

ในตอนนี้เองธนาคารกลางสหภาพยุโรป หรือ ECB จึงมีท่าทีที่จะต้องเข้ามาจัดการกับอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการ ECB หลายท่านออกมาพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากที่มีแนวโน้มจะหยุดมาตรการการเข้าซื้อพันธบัตร หรือ QE ในช่วงไตรมาสที่ 3 รวมถึง Christine Lagarde ประธาน ECB เอง ก็ออกมาพูดเช่นเดียวกัน ทำให้ตลาดมองว่า ECB น่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปีนี้ โดยอีก 2 ครั้ง น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน และธันวาคม 2022

ความชัดเจนในเรื่องการหยุดเข้าซื้อ QE รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย น่าจะมีมากขึ้นในการประชุมครั้งต่อไป วันที่ 9 มิถุนายน 2022 ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจมีการชะลอตัวมากกว่าที่ ECB คาดการณ์ไว้ ก็อาจจะทำให้ ECB ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในระดับที่ตลาดคาดหวัง ก็น่าจะสร้างความผันผวนให้ตลาดได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

ญี่ปุ่น

ค่าเงินเยนอ่อนค่าอย่างมากในช่วงเดือนเมษายน เนื่องจากความแตกต่างด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ที่ทำให้ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศแตกต่างกันมากขึ้น กดดันให้เงินเยนอ่อนค่าลง เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้ค่อนข้างเปราะบาง

ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ และมีคนออมเงินมากกว่าใช้จ่าย การฟื้นตัวส่วนใหญ่มาจากฐานที่ต่ำ จึงไม่ได้เป็นการฟื้นตัวที่หวือหวาเท่ากับในสหรัฐฯ หรือจีน ซึ่งก็ทำให้ BoJ ยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประชุม BoJ

ล่าสุด ปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา แม้ว่า BoJ จะมีการปรับประมาณการ GDP ลดลง และปรับอัตราเงินเฟ้อขึ้น แต่ว่าเงินเฟ้อที่ปรับประมาณการใหม่ ก็ยังอยู่ที่ 1.9% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ของ BoJ รวมไปถึง BoJ เอง ก็ยังยืนยันที่จะเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อควบคุมอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปี ไม่ให้อยู่ในระดับเกิน 0.25% ฉะนั้นก็เห็นว่า BoJ ยังมีท่าทีที่ยัง dovish อย่างต่อเนื่อง คือ ยังมีความตั้งใจให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้หลังการประชุม เงินเยนจึงอ่อนค่าทะลุ 130 เยนต่อดอลลาร์ไปในช่วงปลายเดือนเมษายน

เมื่อ BoJ มองว่า เงินเฟ้อยังเป็นเรื่องของ cost push คือ มาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น มากกว่ามาจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรง และยังยืนยันใช้นโยบายแบบผ่อนคลาย ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่า และเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น สิ่งที่รัฐบาลจะสามารถมาลดผลกระทบนี้ได้ คือ ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน เช่น การอุดหนุนราคาน้ำมัน การให้เงินช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งเรามองว่า แม้การลดผลกระทบนี้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แต่ก็เป็นการสนับสนุนอารมณ์ของนักลงทุนในเชิงบวกให้กับตลาดญี่ปุ่น

อินเดีย

ประเทศอินเดียเป็นประเทศเดียวในกลุ่มที่กล่าวถึงครั้งนี้ ที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างเซอไพร์สตลาด เนื่องจากก่อนหน้านี้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอินเดียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน 2022 แต่ว่าธนาคารกลางอินเดียมีการจัดประชุมนอกรอบเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.40% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของอินเดียเพิ่มจาก 4% เป็น 4.4% เนื่องจากมีความกังวลกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาก

เมื่อย้อนไปหลังการประชุมเมื่อเดือนเมษายน 2022 ธนาคารกลางอินเดียก็ได้มีการปรับประมาณการเงินเฟ้อขึ้น และปรับประมาณการการเติบโตของ GDP ลงมา

ทั้งนี้ หากดูเงินเฟ้อล่าสุดของอินเดียในเดือนเมษายน พบว่า พุ่งขึ้นไปถึง 7.79% จะเห็นได้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้น ราคาอาหารก็พุ่งขึ้นเช่นกัน จากฝั่งต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น บวกกับภาวะการขาดแคลนน้ำมันพืช ซึ่งยิ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น เพราะอินเดียเป็นผู้นำเข้าน้ำมันพืชรายใหญ่ของโลก

BBLAM มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้ออินเดียจะอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอินเดียที่ตั้งไว้ 2-6% ไปอีกระยะหนึ่ง และธนาคารกลางอินเดียน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022 ไปจนถึงช่วงปี 2023 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนแน่นอน ในช่วงเวลาเช่นนี้ นักลงทุนจึงต้องมีความระมัดระวังกับการลงทุนในตลาดอินเดียด้วย

สรุป

ภาพรวมเดือนพฤษภาคม 2022 เศรษฐกิจยูโรโซน ECB มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปี 2022 แต่ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยก็อาจจะทำให้ ECB ไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้เท่าที่ตลาดคาด

ส่วนญี่ปุ่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง BoJ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่า ราคาสินค้าน้ำเข้าปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลจึงต้องใช้มาตรการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบของเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น

ด้านอินเดีย มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปแล้ว 40 basis point เร็วกว่าที่ตลาดคาด และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2023 ซึ่งก็จะกดดันตลาดอินเดียในช่วงนี้

ส่วนประเด็นที่ต้องจับตาคือ ตัวเลขเงินเฟ้อที่ทยอยประกาศในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ว่าจะเริ่มเห็นจุดสูงสุดแล้วหรือยัง รวมถึงท่าทีของธนาคารกลางต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนเคลื่อนไหวผันผวนค่อนข้างสูง นักลงทุนต้องมีการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด