โดย…มทินา วัชรวราทร CFA®
Head of Investment Strategy
BBLAM
เวลานี้ตลาดปกคลุมด้วยความกลัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง การล็อคดาวน์ของจีน เป็นช่วงที่หลายๆ ตลาดเข้าสู่ bear market หรือตลาดหมี ทำให้เป็นการยากที่นักลงทุนจะมีความหวังขึ้นมาใหม่ เป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนจะเพิ่มเงินสดในพอร์ตมากขึ้น และอาจจะลืมนึกถึงผลตอบแทนระยะยาว แต่ในช่วงที่ตลาดกลัวไปมาก เรามองว่า อาจจะมีจังหวะที่ดีในการสะสมหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เพราะในที่สุดตลาดจะหันกลับไปจับตากำไรของบริษัทแทน
หุ้นเทคโนโลยีถือเป็นหนึ่งในหุ้นที่มีคุณภาพดี พื้นฐานแข็งแกร่ง กำไรผันผวนน้อย ถ้าดูจากมูลค่า จะเห็นว่าดัชนี MSCI World Information Technology Index (USD) ดัชนีอ้างอิงหุ้นกลุ่มเทคฯ สหรัฐฯ มูลค่าก็ปรับลดลงมาจนทำให้บริษัทเทคฯ มี P/E ที่ต่ำลง และทำให้เริ่มน่าสนใจที่จะลงทุน
ส่วนหุ้นเทคฯ จีนก็เป็นดัชนีที่ไม่แพงเช่นกัน จากที่นักลงทุนเคยกังวลประเด็นกฎเกณฑ์ การจัดระเบียบของทางการ เวลานี้ก็เริ่มคลายความกังวลแล้ว หลังรัฐบาลจีนมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การหาทางเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้บริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกถอนออกจากตลาด จากปัญหาการเปิดเผยข้อมูล หรือการประกาศว่า หากจะออกกฎเกณฑ์อะไรจะเตือนตลาดก่อนและศึกษาผลกระทบก่อนด้วย และถ้าไปดูการเทขายหุ้นเทคฯ จีน จากดัชนี MSCI China ก็พบว่า ในปี 2021 ถูกเทขายไป 54% แล้ว มากกว่าค่าเฉลี่ยการเทขายในอดีต ทำให้มูลค่าหุ้นจีนก็ไม่แพง อาจจะเป็นจังหวะที่เข้าสะสม เพื่อลงทุนระยะยาวได้
มาถึงตรงนี้ เราอยากชวนนักลงทุน มองข้ามปัจจัยระยะสั้น มาศึกษาพื้นฐานของบริษัท เพื่อเตรียมไว้สำหรับการลงทุนในอนาคต เราขอเทียบหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ กับจีน เพื่อพิจารณาว่า ใครน่าสนใจกว่ากัน โดยวัดจากเทคโนโลยีสำคัญ 2 กลุ่ม คือ Cloud ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเทคโนโลยี และ Metaverse คือ ประตูสู่ความเป็นผู้นำ
ในด้าน Cloud สหรัฐฯ มีบริษัท Cloud ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ คือ Amazon AWS, Google และ Microsoft Azure ซึ่งลักษณะธุรกิจ Cloud คือ ใครมาก่อนได้เปรียบกว่า เพราะลูกค้าใช้แล้วมัก ไม่ค่อยเปลี่ยน ถ้าไม่มีเหตุจำเป็น
แต่ก็ใช่ว่า จีนจะตีตลาดนี้ไม่ได้ เพราะ Cloud ของจีนก็เติบโตสูง โดยที่น่าจับตาคือ Alibaba Cloud ซึ่งลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเอเชีย นอกจากให้บริการ ยังฝึกอบรมนักพัฒนาซอฟต์แวร์หลักแสนคนทั่วเอเชียด้วย แถมร่วมมือมหาวิทยาลัยทั่วเอเชียพัฒนาคอร์สสอนเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) อีกด้วย สรุปว่า ด้าน Cloud สหรัฐฯ ยังไม่ใช่ผู้ชนะขาดรอย จีนยังเข้าไปท้าชิงได้
ส่วน Metaverse หลายคนได้ยินเรื่องนี้ของฝั่งสหรัฐฯ มากแล้ว ข้อได้เปรียบของสหรัฐฯ คือ บริษัทที่คิดค้นนวัตกรรม เช่น Meta, Microsoft และ Netflix ที่เงินสดเหลือมาก นำไปลงทุนด้าน Metaverse ได้ โดยไม่ต้องกลัวจะมีรัฐบาลมาจำกัดคิดอิสระ และรัฐบาลไม่สามารถควบคุมแพลตฟอร์มได้ แถมองค์ประกอบแวดล้อมก็แข็งแกร่ง เพราะสหรัฐฯ มี Nvidia ผลิตชิป AI จึงยากที่จะมีคู่แข่งตามทัน
ส่วนฝั่งจีน เวลานี้มี 1,500 บริษัท กำลังขอจดทะเบียนการค้าทำธุรกิจ Metaverse แม้ที่ผ่านมา มีข่าวจีนแบน Metaverse แต่ในที่สุด จีนไม่สนับสนุนด้านนี้ไม่ได้ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและไอทีของจีน ได้รวมธุรกิจ Metaverse ไว้ในธุรกิจนวัตกรรมสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก เพื่อสนับสนุนในปี 2022 แล้ว ขณะที่เป้าหมายของจีนที่ต้องการเป็นผู้นำเทคฯ เช่น การขับขี่ด้วยตัวเอง การผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่ซับซ้อน การพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้จีนต้องสนับสนุน Metaverse เพราะเป็นประตูบานสำคัญสู่โลกเทคโนโลยีขั้นถัดไปที่ทำให้เทคฯ ที่เกี่ยวข้องพัฒนาไปด้วย
ตัวอย่างบริษัทเทคฯ จีนที่ทำ Metaverse คือ Tencent ซึ่งพื้นฐานธุรกิจที่มีการต่อยอดไปยังโลกเสมือนได้ ทั้ง Social network เช่น wechat, QQ, Tencent Music มีเกม โฆษณาในแอป มีเทคโนโลยีการเงิน wechat pay มี Tencent Meetings สำหรับประชุม ที่สำคัญก็มี Cloud ด้วย ดูแล้วก็เหมือนก้าวขาข้างหนึ่งไปรอในโลกเสมือนแล้ว แถมยังไปลงทุนบริษัทที่ทำอุปกรณ์ด้วย เช่น snapchat
อีกตัวอย่าง คือ Alibaba บริษัทที่เงินสดเหลือเยอะ และลงทุน Metaverse ต่อเนื่อง ข้อได้เปรียบของ Alibaba คือ เป็นผู้นำตลาด Cloud รองรับโลก Metaverse ครอบคลุมทั้งด้านอี-คอมเมิร์ซ เกม พื้นที่สังคมต่างๆ พื้นที่อัจฉริยะต่างๆ ได้ทั้งหมด
ดังนั้น BBLAM มองว่า ณ จุดนี้ ถ้าเราจะลงทุนเพื่อหาโอกาสจาก Metaverse ที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ในอนาคต ก็ได้ทั้งฝั่งสหรัฐฯ และจีน
โดยรวมแล้ว BBLAM มองว่า ถึงแม้ว่า อเมริกาจะเป็นผู้นำในด้าน Cloud แต่จีนก็เติบโตสูงเช่นเดียวกัน ส่วน Metaverse อเมริกาจะได้เปรียบในด้านเทคโนโลยี ความอิสระในการคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งหากจีนอนุญาตให้ Metaverse เกิดขึ้น ตลาดของจีนจะใหญ่กว่าตลาดของอเมริกา เนื่องจากจำนวนผู้ใช้และปริมาณธุรกรรม และในขณะนี้ที่ราคาหุ้นเทคโนโลยีทั้งสองประเทศลงมาแล้วทั้งคู่ เรามองว่า น่าจะสามารถหาโอกาสเข้าสะสมได้ ในช่วงตลาดแบบนี้ เรายังแนะนำให้ท่านถือเงินสดมากขึ้นจากปกติ และอย่าลืมหาจังหวะเพื่อลงทุนระยะยาว (สิบปีขึ้นไป) ค่ะ