BF Knowledge Tips: ลงทุนเป็นพอร์ต ทางออกในโลกลงทุนที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

BF Knowledge Tips: ลงทุนเป็นพอร์ต ทางออกในโลกลงทุนที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

สรุปความสัมภาษณ์

เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

ตลาดการลงทุนทุกวันนี้ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ปัจจัยที่ส่งผลกระทบยังคงเป็นปัจจัยเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงในฝั่งตะวันตก จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากโลกใบนี้เศรษฐกิจเชื่อมโยงกัน เราจะพบว่ามีข่าวอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมโหฬาร จนกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของหลายประเทศที่โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอ สิ่งเหล่านี้เป็นความกังวลที่ถูกพูดถึงมากขึ้น

กรณีสงครามรัสเซียยูเครนนั้น ผลกระทบที่สำคัญจะไม่ใช่เรื่องระหว่าง 2 ประเทศ แต่เป็นประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามในครั้งนี้ทำให้ประเด็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประเทศบนโลกใบนี้ออกเป็น 2 ค่าย ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในแง่ทุนนิยมเสรี เพราะเมื่อมีการแบ่งฝ่ายฉันฝ่ายเธอ การเคลื่อนไหวของเงินทุน หรือสินค้าและบริการจะถูกควบคุมหรือกีดกัน ถือเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลต่างๆ ใช้ต่อกรกับฝั่งตรงข้าม

คำถามคือแล้วเราจะลงทุนยังไงดี วันนี้อยากจะพูดถึงประเด็นหนึ่งก็คือ การให้บริการของสถาบันการเงินที่เป็นเรื่องการจัดพอร์ต

หลายท่านอาจมีการใช้บริการนักวางแผนการเงิน หรือผู้ดูแลเงินส่วนตัว เป็นลักษณะของ private wealth ที่มีการดูแล จัดพอร์ต จัดสัดส่วนที่เหมาะสมมาให้ แต่ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ใช้บริการเหล่านี้ ก็จะมีโมเดลที่นำเสนอผู้ลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม หรือบางหน่วยงานธุรกิจก็ใช้กองทุนส่วนบุคคลมานำเสนอ อย่างโมเดลที่พยายามจะมองว่าอะไรให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ว่าการลงทุนแบบไหน การปรับพอร์ตโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือใช้โมเดลแบบไหนน่าจะให้ผลที่ดีกับผู้ลงทุน การปรับเปลี่ยนหรือสัดส่วนการลงทุนควรจะเป็นแบบไหน สิ่งนี้อยู่ในเป้าหมายการสร้างผลตอบแทนภายใต้การบริหารความเสี่ยงโดยการลงทุนที่ไม่กระจุกตัวในสินทรัพย์ใดมากเกินไป จะมีการกระจายความเสี่ยงเพื่อลดความผันผวนด้วย

แต่อีกโมเดลหนึ่งก็คือ การจัดพอร์ตที่ไม่ได้อิงผลตอบแทนที่ดีที่สุด แต่อิงเรื่องความเหมาะสมกับผู้ลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่จะแบ่งตามช่วงอายุของผู้ลงทุน อายุมากรับความเสี่ยงได้น้อย อายุน้อยรับความเสี่ยงได้มาก หรือว่าจะแบ่งพอร์ตตามระดับความเสี่ยงให้ผู้ลงทุนได้เลือกเลย

นักลงทุนบางคนอาจจะมีอายุมากแล้ว แต่มีเงินจำนวนมาก ซึ่งเงินบางส่วนอาจจัดสรรมาลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงได้ แต่อยากได้ในลักษณะพอร์ตการลงทุน แล้วก็มีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลจัดการให้ หรืออาจจะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นๆ ขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจว่าเป็นอย่างไร

ลักษณะเช่นนี้ ธุรกิจกองทุนรวมก็จะมีอยู่หลายบริการ ซึ่ง BBLAM ก็มีเช่นกัน คือ กองทุน BMAPS ซึ่งเป็นชื่อย่อมาจาก Bualuang Multi Asset Portfolio Solutions

โมเดลของ BMAPS จะมีระดับความเสี่ยง 3 ระดับให้ผู้ลงทุนพิจารณา จะไม่ใช่โมเดลที่ปรับเปลี่ยนไปโดยอิงกับผลตอบแทนระยะยาว ว่าทำแบบไหนให้ได้ผลตอบแทนมากที่สุด โดยโมเดลนี้เกิดจากการลงทุนในกองทุนของ BBLAM เอง ซึ่งมีกองทุนนำเสนอให้ผู้ลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมนักลงทุนจัดพอร์ตเองไม่ยากเท่าไหร่ แต่พอในระยะหลังมีกองทุนมากขึ้น ก็มีเสียงเรียกร้องให้ผู้จัดการกองทุนช่วยไปดูให้เลยดีหรือไม่ แทนที่จะบอกว่าช่วงนี้ควรจะลงทุนกองทุนไหน เลือกหุ้นอย่างไร เพราะนักลงทุนอาจจะไม่มีเวลาติดตามเอง จึงเกิดเป็นโมเดล BMAPS25 BMAPS55 และ BMAPS100

หากต้องการลงทุนในกองทุนโดยมีความเสี่ยงไม่มาก ลงทุนในหุ้นเฉลี่ยไม่เกิน 25% ของพอร์ตลงทุน ก็เลือก BMAPS25 ได้ แต่ถ้าเป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงระดับกลางๆ มีหุ้นไม่เกิน 55% ก็จะเป็น BMAPS55 ส่วน BMAPS100 ลงทุนในหุ้นได้เต็ม 100% แต่ในความเป็นจริงแล้ว กองทุนนี้ก็อาจจะมีการเก็บเงินสดไว้บางส่วนเพื่อปรับสมดุลพอร์ตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ลงทุนในแต่ละช่วงเวลา

ผู้จัดการกองทุนอาจจะมีการปรับน้ำหนักกองทุน ตัวอย่างเช่น B-ASEAN หรือหุ้นไทย ที่คิดว่าเหมาะสมในสถานการณ์เช่นนี้มากขึ้น แล้วอาจจะไปลดสัดส่วนหุ้นที่คิดว่ามีความไม่แน่นอน มีความผันผวนสูง เช่น หุ้นในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น B-INNOTECH หรือ B-USALPHA นี่คือตัวอย่างไอเดีย ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะคอยปรับเปลี่ยนให้ โดยที่ไม่ได้อิงการปรับเปลี่ยนเป็นรายวัน เพราะเป้าหมายการลงทุนทั้ง 3 กองทุน ยังเป็นการลงทุนระยะยาว

แปลง่ายๆ ว่า ถ้านักลงทุนรู้ใจตัวเอง รู้โจทย์ของตัวเองว่าระดับความเสี่ยงในการลงทุนที่ต้องการลงทุนนั้น อยู่ในระดับมาก กลาง หรือน้อย เข้าใจความเสี่ยงของทั้ง 3 กองทุน แล้วก็อยากเลือกกองทุนของ BBLAM แต่ไม่รู้ว่าช่วงนี้ควรจะลงทุนกองทุนไหนเท่าไหร่ดี ก็ลงทุนผ่าน BMAPS  ตามระดับความเสี่ยงทั้ง 3 กองทุนนี้ แล้วให้ผู้จัดการกองทุนของ BBLAM จัดการให้

หากดูในช่วงที่ผ่านมา ผู้จัดการกองทุน ทีม Asset Allocation ที่ดูแลกองทุน BMAPS ค่อนข้างมีมุมมองไปในทาง conservative (อนุรักษ์นิยม) ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ จึงมองว่าควรจะปรับลดสัดส่วนหุ้นเติบโตลงมาบ้าง แม้ BBLAM จะมองว่า หุ้นเติบโตมีความน่าสนใจ มีธีมที่เติบโตได้ในระยะยาว อยู่ในเทรนด์ที่ดีอยู่ เพียงแต่ในบางจังหวะ ก็อาจจะต้องมีการปรับสัดส่วนบ้าง ดังนั้นจึงอาจทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนทั้ง 3 กองทุน เมื่อไปเทียบกับกองทุนหุ้นเลย อาจจะไม่ได้หวือหวามากนัก แต่จะดีในแง่ความผันผวนที่น้อยกว่า เพราะมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี