เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาสแรก เติบโต +0.4% QoQ sa

เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาสแรก เติบโต +0.4% QoQ sa

  • GDP ไตรมาส 1/2018 ของยูโรโซน โต +0.4% QoQ sa ชะลอลงจาก +0.7% QoQ sa ในไตรมาสก่อนหน้า
  • การแข็งค่าของสกุลเงินยูโร กดดันความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ และสงครามการค้ายืดเยื้อกระทบความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ
  • ข้อมูลดังกล่าว จะถูก ECB นำไปพิจารณาเพื่อตัดสินใจกรอบเวลาในการคลาย QE ออก

Eurostat ประเมินเบื้องต้นว่า เศรษฐกิจของสมาชิกยูโรโซน 19 ประเทศขยายตัวเพียง +0.4% QoQ sa ในไตรมาสที่ 1/2018 (Preliminary Flash Estimate) นับว่าน้อยกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่โตได้ +0.7% QoQ sa พอสมควร และยังถือว่าช้าที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม เรายังต้องรอดูองค์ประกอบที่จะถูกเผยออกมาในการประกาศครั้งถัดไป เพื่อทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เศรษฐกิจยุโรปเผชิญกับแรงต้านหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงโรคระบาด อย่างไรก็ดี สัญญาณเช่นภาคการผลิตที่ยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสงครามการค้า และยูโรที่แข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์ฯ ล้วนแต่จะเข้ามากระทบกับเศรษฐกิจยุโรปในระยะต่อไปได้

1. การชะลอตัวลงของภาคการผลิต ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production: IP) ในยุโรป ขยายตัวในอัตราสูงสุดช่วงเดือน ธ.ค. 2017 ทว่า นับตั้งแต่นั้นมา IP ย่อลงต่อเนื่องเหลือ +2.9% YoY ในเดือน ก.พ. 2018 จากการผลิตสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต่างชะลอลง เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลชี้นำอย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers Index: PMI) ที่ลดลงเหลือ 55.2 สำหรับเดือน เม.ย. เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอาจกำลังเสียโมเมนตัมไป

2. ยูโรแข็งค่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมายูโรแข็งค่าขึ้นถึงราว +10% เทียบกับดอลลาร์ฯ เข้ามากดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าที่ผลิตในภูมิภาค หลังจากที่ก่อนหน้าการส่งออกเคยเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจยุโรปอันสำคัญในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา

3. สงครามการค้า ความเสี่ยงของสงครามการค้า เข้ากระทบกับความเชื่อมั่นผู้ประกอบการแล้ว โดยแม้ว่าการยกเว้นกำแพงภาษีอลูมิเนียมและเหล็กของสหรัฐฯต่อยุโรป ได้ถูกต่ออายุออกไปอีก 1 เดือนจากกำหนดวันหมดอายุเดิม 1 พ.ค. 2018 แต่ทางสหรัฐฯกำลังพยายามเรียกร้องให้ยุโรปบังคับใช้โควต้าการส่งออกอลูมิเนียมและเหล็กในระดับ 90% ของมูลค่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จึงถูกต่อต้านจากทางการยุโรปว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่สามารถยอมรับได้ ทั้งนี้ ดัชนี Ifo Business Climate ของเยอรมนีที่ทรุดลงต่อเนื่องเหลือ 102.1 จุดในเดือน เม.ย. จากทั้งสภาพประกอบการในปัจจุบันที่ย่ำแย่ลง และมุมมองในอนาคตที่ไม่สดใสเท่าเดิม

ที่มา: Bloomberg

ข้อมูลดังกล่าว ตอกย้ำถึงความกังวงของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วงที่ผ่านมาว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงต้นปีนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจขาลงก็เป็นได้ ดังนั้น จึงยังต้องจับตามองการเคลื่อนไหวของ ECB อย่างใกล้ชิด ว่าจะตัดสินใจยุติมาตรการกระตุ้นทางการเงิน (QE) ในปีนี้ตามที่ตลาดคาดไว้หรือไม่ด้วย