Economic Research
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนพ.ค. อยู่ที่ 106.62 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.10% YoY (vs prev 4.8%) และเพิ่มขึ้น 1.40% MoM (vs prev 0.3%) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ 5.19 %
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน พ.ค. อยู่ที่ 102.74 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.28% YoY (vs prev 2.0%) และเพิ่มขึ้น 0.17% MoM (vs prev 0.14%) ส่งผลให้ CORE CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรกอยู่ที่ 1.72%
อัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค. เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงกรณีที่มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐในบางโครงการได้สิ้นสุดลง เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้มโดยเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. ปรับตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี
สินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อดีดสูง 7.10% นั้น มาจากสินค้ากลุ่มพลังงาน สูงขึ้น 37.24% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึง 35.89% ปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้น 45.43% ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค. และราคาก๊าซหุงต้ม สูงขึ้น 8% จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่เดือนเม.ย.ไปจนถึงเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มอาหาร สูงขึ้น 6.18% อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ผักสด ราคาเปลี่ยนแปลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน
ทิศทางอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย. ยังมีโอกาสปรับสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าและบริการที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมมองว่า ต้องจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเดือนมิ.ย. เนื่องจากในเดือนนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีการหารือกับซาอุดิอาระเบียเพื่อขอให้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณที่ช่วยให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงได้บ้าง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2-4 ของปีนี้ ก.พาณิชย์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าไตรมาส 1/2022 ที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวที่ 4.75% แต่ในภาพรวมทั้งปีนี้ เชื่อว่าจะไม่สูงขึ้นไปจนถึงระดับ 6 หรือ 7%
เงินเฟ้อช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ อาจจะอยู่ในระดับสูง ถ้าโจทย์สำคัญยังมาจากราคาน้ำมัน แต่เชื่อว่าพอไตรมาส 4/2022 อัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ เริ่มลดลง เพราะเทียบกับฐานเงินเฟ้อของปีก่อนที่เริ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี สนค. ยังไม่มีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ โดยยังคงไว้ตามเดิมที่เคยประกาศไว้ล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค. ที่ 4-5%