‘เตือน’ จับตา ‘วิกฤติข้าว’ หลังราคาพุ่งสุดรอบ 12 เดือน

‘เตือน’ จับตา ‘วิกฤติข้าว’ หลังราคาพุ่งสุดรอบ 12 เดือน

ดัชนีราคาอาหาร “เอฟเอโอ” ชี้ราคาข้าวระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ห้าติดต่อกัน และได้พุ่งสูงสุดในรอบ 12 เดือนแล้ว  เตือนอาจเกิดวิกฤตข้าวต่อ หลังจากที่เกิดวิกฤตอาหารในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา

ราคาอาหารหลายชนิดได้ปรับตัวขึ้น ซึ่งมีตั้งแต่ข้าวสาลี และธัญพืชอื่น ๆ จนถึงเนื้อสัตว์และน้ำมัน  ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น ได้แก่ ต้นทุนปุ๋ยและพลังงานเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา และสงครามรัสเซีย-ยูเครน  หลายประเทศได้ห้ามส่งออกอาหาร หรือเกิดการหยุดชะงักอย่างรุนแรง เช่น อินเดียได้ห้ามส่งออกข้าวสาลี ยูเครนห้ามส่งออกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต และน้ำตาล ขณะที่อินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม

มีเสียงเตือนว่า อาจเกิดวิกฤตข้าวเป็นรายต่อไป  โดยข้อมูลของเดือนพฤษภาคม ที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ว่า ดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ชี้แล้วว่า ราคาข้าวระหว่างประเทศกำลังพุ่งสูงขึ้นเป็นเดือนที่ห้าติดต่อกันโดยสูงสุดในรอบ 12 เดือน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แม้การผลิตข้าวยังคงมากอยู่ แต่ราคาข้าวสาลีที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนการทำเกษตรที่เพิ่มขึ้นโดยทั่วไป จะทำให้ราคาข้าวเป็นที่จับตามองต่อไปในเดือนหน้า

โซนาล วาร์มา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ กล่าวว่า ต้องจับตาราคาข้าวต่อไป เพราะข้าวอาจเป็นตัวทดแทนข้าวสาลี  ซึ่งจะเพิ่มอุปสงค์และทำให้สต๊อกข้าวที่มีอยู่ลดลง  นอกจากนี้ยังกล่าวว่า มาตรการปกป้องสินค้าภายในประเทศ ทำให้แรงกดดันราคาในระดับโลกเลวร้ายลงจริง ๆ ด้วยหลายเหตุผล  ต้นทุนอาหารสัตว์และปุ๋ยกำลังสูงขึ้นแล้ว และราคาพลังงานกำลังเพิ่มต้นทุนในการขนส่ง ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่จะมีการปกป้องสินค้าในประเทศต่าง ๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ข้าวยังคงมีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากมีสต๊อกข้าวทั่วโลกเพียงพอและมีการคาดการณ์ว่า การเก็บเกี่ยวในอินเดียจะดีในช่วงฤดูร้อนปีนี้

การทำสงครามกับยูเครนของรัสเซีย ได้ทำให้ข้าวสาลีปรับตัวขึ้น เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ และการรุกรานของรัสเซียได้ทำให้การเกษตรหยุดชะงักและขัดขวางการส่งออกธัญพืชจากยูเครน  ราคาข้าวสาลีได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% นับตั้งแต่หนึ่งปีก่อน

รอยเตอร์รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่ยูเครนว่า เฉพาะในวันจันทร์ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวสาลีได้พุ่งขึ้น 4% หลังจากที่ทหารรัสเซียทำลายหนึ่งในแหล่งส่งออกธัญพืชรายใหญ่สุดของยูเครน

รอยเตอร์ยังเคยรายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของรัฐบาลไทยเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ว่า ไทยและเวียดนามกำลังเจรจาเพื่อทำข้อตกลงที่จะขึ้นราคาส่งออกข้าว

จากรายงานเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ผู้ส่งออก 4 รายกล่าวกับรอยเตอร์ว่า พ่อค้าได้ซื้อข้าวจากอินเดียมากขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

เดวิด ลาบอร์ด นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในขณะนี้มีความกังวลมากขึ้นว่าอินเดียจะห้ามส่งออกข้าวในเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่ได้ห้ามส่งออกข้าวสาลีและน้ำตาล

จากข้อมูลของสภาเศรษฐกิจโลก อินเดียและจีนเป็นผู้ผลิตข้าวสองอันดับแรกของโลก โดยมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตทั่วโลกทั้งหมด และเวียดนามผลิตมากเป็นอันดับ 5 ขณะที่ไทยผลิตมากเป็นอันดับ 6

อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลีในเดือน พฤษภาคม โดยอ้างว่าจำเป็นต้องบริหารความมั่นคงโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ยังได้จำกัดการส่งออกน้ำตาลหลังจากนั้นไม่กี่วันตามมา

ลาบอร์ด กล่าวว่า การขึ้นราคาจะดีกว่าการห้ามส่งออก เนื่องจากการขึ้นราคาเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและช่วยให้พวกเขาผลิต แต่การห้ามส่งออกทำให้ราคาในตลาดโลกสูงขึ้น แต่ทำให้ราคาในตลาดภายในประเทศลดลง

นาฟีส์ เมียห์ ผู้แทนภาคพื้นเอเชียใต้ของสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ กล่าวว่า  ต้นทุนพลังงานที่ได้เพิ่มขึ้นทั่วโลก เป็นส่วนสำคัญของต้นทุนการผลิตข้าว  ดังนั้นจึงมีข้อโต้แย้งว่า หากตลาดกำลังชี้ว่าราคาข้าวเพิ่มขึ้น แต่ทำไมเกษตรกรถึงไม่ได้รับประโยชน์จากราคาที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของราคาข้าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนจำนวนมากในเอเชีย ซึ่งเป็นผู้บริโภคข้าวมากสุด  ดังนั้นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น ติมอร์ตะวันออก ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมากและหลายประเทศที่ไม่มีความมั่นคงด้านอาหาร จะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงหากราคาข้าวยังคงสูงขึ้น และอยู่ในระดับที่สูงมากต่อไป

เฟรเดอริค แคร์ริเออร์  กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนของอาร์บีซี เวลธ์ แมเนจเมนต์ กล่าวว่า

ดัชนีราคาอาหารของสหประชาชาติชี้ว่า ในขณะนี้สูงกว่าระดับราคาก่อนเกิดการระบาด 75%   การขาดแคลนแรงงานที่เกี่ยวกับการระบาดและการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ได้ทำให้เกิดสถานการณ์เพิ่มเร็วขึ้นทั้งในการปิดกั้นอุปทานอาหารและทำให้ราคาพลังงานยิ่งสูงขึ้นอีก

แคร์ริเออร์ กล่าวว่า ประมาณหนึ่งในสามของต้นทุนผลิตอาหารเกี่ยวข้องกับพลังงาน โดยเฉพาะปุ๋ยต้องใช้พลังงานมากในการผลิตและราคาได้สูงขึ้นนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

ที่มา CNBC