ภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศของโลกกำลังเล่นงานชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่ตอนนี้เจอปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทำลายสถิติ ส่งผลให้ชาวอเมริกันเกือบครึ่งแบกรับภาระหนี้สินก้อนโต เพราะต้องไปหากู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ขณะที่อินโดนีเซียก็มีปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน โดยธนาคารกลางอินโดนีเซีย เผยว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศทะยานสูงสุด ในรอบ 7 ปี แตะที่ 4.94% ในเดือนก.ค. สูงกว่ากรอบเป้าหมายไปเยอะ
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานผลการศึกษาหลายฉบับที่มีการเปิดเผยออกมาเมื่อไม่นานมานี้ว่า ภายใต้ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งทำลายสถิตินับตั้งแต่ปี 2524 ของสหรัฐ โดยชาวอเมริกันเกือบครึ่งต่างเจอปัญหาในด้านการใช้จ่ายและหนี้สิน และส่วนใหญ่จำเป็นต้องลดการออมเงินเพื่อใช้ยามฉุกเฉินให้น้อยลง เพื่อออมเงินสู่เป้าหมายทางการเงินในระยะยาว
ผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับสถานภาพทางการเงินในครัวเรือนและความพร้อม จัดทำโดยอเมริกัน คอนซูเมอร์ เครดิต คอนซัลติง (American Consumer Credit Counseling) บ่งชี้ว่า เกือบ 40% ของผู้บริโภคชาวอเมริกันไม่สามารถเก็บออมเงินได้เลย ขณะที่ 19% บอกว่า จำเป็นต้องตัดลดสัดส่วนเงินออมเพื่อนำมาใช้จ่าย
เมื่อไตรมาสที่สองของปีนี้ 48% ของผู้บริโภคกล่าวว่า ค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์ของครอบครัว โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ 39%
“อัลเลน อะมาดิน” ประธานและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของอเมริกัน คอนซูเมอร์ เครดิต กล่าวว่า ปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติ การระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 สงครามในยูเครน ปัญหาเงินเฟ้อ และเหตุการณ์อื่นๆ ส่งผลกระทบต่อสังคมอเมริกัน ในเรื่องการเงินของครัวเรือนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
อะมาดิน กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางการเงินที่พลิกผัน และเกิดขึ้นต่อเนื่องกันภายในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน บีบบังคับให้ต้องหาทางเอาตัวรอด ท่ามกลางความท้าทายดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจ ที่จัดทำโดยเลนดิง ทรี (LendingTree) บ่งชี้ว่า เพื่อที่ทำให้รายได้พอต่อการใช้จ่าย ชาวอเมริกัน 43% คาดว่าจำเป็นต้องเพิ่มการกู้ยืมเงินในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยประชากรในวัยหนุ่มสาวและครอบครัวที่มี เด็กเล็กต่างมีแนวโน้มจำเป็นต้องเพิ่มหนี้ครัวเรือนของตนเองเพื่อนำมาใช้จ่าย และส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า จะพึ่งพาการกู้เงินจากบัตรเครดิต เพื่อปิดช่องว่างระหว่างรายได้กับรายจ่าย
นับตั้งแต่ช่วงต้นปีมานี้ ปริมาณการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสินเชื่อรถยนต์ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และเงินกู้ซื้อบ้าน ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนทั้งหมดของสหรัฐ พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 15.84 ล้านล้านดอลลาร์
“แมทท์ ชูลซ์” หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านสินเชื่อจากเลนดิง ทรี กล่าวว่า ปริมาณหนี้ที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นได้ทั้งสัญญาณบวกที่สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐหรือสัญญาณลบ ที่บ่งชี้สถานะทางการเงินแบบชักหน้าไม่ถึงหลังของชาวอเมริกัน
ชูลซ์ บอกด้วยว่า หลายคนรับภาระหนี้ เพราะมั่นใจกับสถานการณ์ทางการเงินของตนเองว่า จะสามารถจ่ายดอกเบี้ยเล็กน้อย หากได้สิ่งที่ต้องการ แต่ก็ยังมีคนอื่นอีกมากที่เป็นหนี้เพราะความจำเป็น ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไร
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจธนาคารที่ให้ลูกค้าประเมินสถานภาพทางการเงินของตนเอง พบว่าส่วนใหญ่มองสถานะการเงินของตนเองว่า มีความแข็งแรงน้อยลง โดยข้อมูลจาก เจ.ดี. พาวเวอร์ ระบุว่า ความพึงพอใจโดยรวมของชาวอเมริกันต่อสถานะทางการเงินของตนเองตอนนี้อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 12 เดือน ขณะที่ผู้ที่มองว่าตัวเองไม่มีความแข็งแรงทางการเงินสูงถึง 64%
ทั้งนี้ สถานภาพทางการเงินโดยรวมที่ลดลงส่วนใหญ่เกิดจากการกู้ยืมมากขึ้นและออมเงินน้อยลง
แต่ขณะที่ชาวอเมริกันจำนวนมากกำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เงินเฟ้อ ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในอาเซียน อย่างอินโดนีเซียก็กำลังดิ้นรนต่อสู้กับปัญหานี้ด้วยเหมือนกัน
ล่าสุด วานนี้ (1 ส.ค.) ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (บีไอ) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี แตะที่ 4.94% ในเดือนก.ค. สูงเหนือกรอบเป้าหมายของบีไอ ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย ส่งผลให้มีกระแสเรียกร้องให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค.นี้สูงที่สุด นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2558 สะท้อนถึงราคาอาหาร เชื้อเพลิงภาคครัวเรือนและค่าตั๋วเครื่องบินที่สูงขึ้น ตลอดจนถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าบางส่วน
ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใน เดือนก.ค. ซึ่งไม่รวมสินค้าที่รัฐบาลควบคุม
และอาหารสด ใกล้เคียงกับการคาดการณ์ที่ 2.86% โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.63% ในเดือนก่อนหน้า
บีไอ วางกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปเอาไว้ที่ 2-4% แต่เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายต้องการกำหนดระดับในการคุมเข้มนโยบายการเงินโดยพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน
ทั้งนี้ บีไอได้เพิ่มสัดส่วนการกันเงินสำรอง (RRR) ของธนาคารพาณิชย์ ขายตราสารหนี้บางส่วน และลดสภาพคล่องส่วนเกินด้วยการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน (OMO) ในปีนี้ เพื่อลดการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วน
แบงก์ชาติอินโดฯ (บีไอ) เผยอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ในเดือนก.ค.พุ่งสูงสุดในรอบ 7 ปี เหนือกรอบเป้าหมายของบีไอ
ที่มา: ซีเอ็นบีซี