ผู้มีรายได้น้อยในสิงคโปร์จะเผชิญกับปัญหาการเติบโตของค่าแรงในระดับที่ต่ำสุด และค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัว
อ้างอิงจากงานวิจัยของดีบีเอส แบงก์ สิงคโปร์ สำนักข่าว ซีเอ็นบีซี รายงานว่า ค่าแรงของผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 65,500 บาท) ต่อเดือน ปรับเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 2.5% ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 จนถึงช่วงเดียวกันของปี 2565
อัตราการเพิ่มขึ้นดังกล่าวนั้นน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.2% ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้
ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ได้รับค่าแรงในช่วง 5,000-7,499 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 131,000-196,000 บาท) มีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 11.1% และผู้ที่ได้รับค่าแรงกว่า 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 262,000 บาท) มีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นถึง 13.6%
จากผลสำรวจของลูกค้ารายย่อยกว่า 1.2 ล้านรายของดีบีเอส แบงก์ ซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของฝ่ายวิจัยของธนาคารระบุว่า ผู้ที่มีค่าแรงต่ำกว่า 2,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ มักจะเป็นผู้สูงอายุที่มีความสามารถในการหารายได้ที่ต่ำ หรือเป็นผู้ใช้แรงงานที่มีความสามารถวิชาชีพไม่สูง
ฝ่ายวิจัย ยังชี้ว่า แม้จะมีการปรับค่าแรง และสวัสดิการพนักงานขึ้น แต่รายได้ของลูกค้าเกือบครึ่งหนึ่งในผลสำรวจยังคงต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีรายได้ต่ำจะได้รับเงินเยียวยาจากทางรัฐบาล ทำให้มีรายได้หลังหักภาษีที่เพิ่มขึ้นสำหรับคนกลุ่มนี้
นอกเหนือจากการขึ้นค่าแรงที่ลดลงแล้ว ผู้มีรายได้ต่ำยังต้องเผชิญค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่ากลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง โดยค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำเพิ่มขึ้น 13.8% ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 จนถึงช่วงเดียวกันของปี 2565 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 5.6 เท่า ของอัตราการเติบโตรายได้ซึ่งอยู่ที่ 2.5%
ผลวิจัยในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ 5,000-7,499 ดอลลาร์สิงคโปร์ พบว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า ของอัตราการเติบโตของรายได้ 11.1% ส่วนผู้ที่มีรายได้กว่า 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1.8 เท่า ของอัตราการเติบโตของรายได้ 13.6%
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และการเปิดประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 นำมาสู่ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่สูงขึ้น โดยพบว่าลูกค้าของ ดีบีเอส มีการใช้จ่ายในอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็น 64% ของรายได้ เทียบกับ 59% ในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะตัวเลขรายจ่ายของกลุ่มคนอายุ 26-41 ปี มีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 30% จากปีก่อนหน้าหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิด-19 ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ หรือในช่วงอายุ 58-76 ปี พบว่าอยู่ในระดับที่น้อยกว่า เนื่องจากส่วนมากเป็นผู้ที่ปลดเกษียณแล้ว จึงทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่ำกว่า
ทุกประเภทของรายการจับจ่ายใช้สอยในสิงคโปร์ พบว่า มีอัตราการเติบโตถึงสองหลัก โดยประเภทที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ การคมนาคม การซื้อของในห้างสรรพสินค้า สิ่งบันเทิง และอาหาร
อย่างไรก็ตาม หากคำนวณการปรับขึ้นอัตราค่าแรงของกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำตลอดช่วงชีวิตของการทำงาน จะพบว่า ผู้มีรายได้ต่ำได้รับการปรับขึ้นอัตราค่าแรงสูงถึง 19.2% ต่อปี
อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปรพุ่งแตะจุดสูงสุดในรอบ 13 ปี ที่ 4.4% ในเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อนหน้า โดยฝ่ายวิจัยของ ดีบีเอส คาดว่า เงินเฟ้อจะทำจุดสูงสุดในไตรมาสสามนี้ และจะเริ่มผ่อนคลายลงในเดือนพฤศจิกายน 2565 ในขณะที่ราคาสินค้าจะยังคงอยู่ในระดับสูงอีกราว 2-3 ปี
ที่มา: ซีเอ็นบีซี