SUPEREIF เตรียมจ่ายปันผลครั้งที่ 11 ในอัตรา 0.09094 บาทต่อหน่วย และเงินคืนทุนครั้งที่ 2 ในอัตรา 0.140 บาทต่อหน่วย วันที่ 13 กันยายน 2565 นี้
นายพรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือBBLAM เปิดเผยว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) จะจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 11 จากผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 หรือระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2565 และกำไรสะสม ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.09094 บาท และจะจ่ายเงินคืนทุนครั้งที่ 2 จากผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 หรือระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2565 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.140บาท โดยกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุน เพื่อกำหนดสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 29 สิงหาคม 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 13 กันยายน 2565
เมื่อนับรวมตั้งแต่จัดตั้งกองทุน จนถึงการประกาศจ่ายเงินปันผลครั้งล่าสุด SUPEREIF จ่ายเงินปันผลรวม 11 ครั้ง คิดเป็นเงิน 2.32125 บาท ต่อหน่วย และจ่ายเงินคืนทุนไป 2 ครั้ง คิดเป็นเงิน 0.180 บาทต่อหน่วย รวมเป็นเงินปันผลและเงินคืนทุนที่จ่ายออกไปทั้งสิ้น 2.50125 บาทต่อหน่วย
สำหรับสรุปผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2565 พบว่า มีรายได้รวมเท่ากับ 442.2 ล้านบาท ลดลง 3.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้จากการลงทุนสุทธิอยู่ที่ 358.5 ล้านบาท ลดลง 3.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สำหรับอัตรากำไรจากรายได้จากการลงทุนสุทธิในช่วงครึ่งแรกปี 2565 เท่ากับ 81.1% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ที่ 80.4%
ด้านผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2565 นั้น กองทุน SUPEREIF มีรายได้ลดลง 2.8% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลง 4.2% จากไตรมาสก่อน เป็น 216.4 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการลงทุนสุทธิลดลง 1.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลง 5.5% จากไตรมาสก่อนเป็น 174.2 ล้านบาท อย่างไรก็ดี อัตรากำไรจากรายได้จากการลงทุนสุทธิ สำหรับไตรมาส 2 ปี 2565 เท่ากับ 80.5% เทียบกับ 79.6% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ 81.6% ในไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ กองทุนรวม SUPEREIF ลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิจากการดำเนินโครงการกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินขนาดเล็กมากของบริษัท 17 อัญญวีร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 19 โครงการ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี สระบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว พิจิตร และเพชรบูรณ์ โดยมีปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดที่เสนอขายตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง (แล้วแต่กรณี) รวม 118 เมกะวัตต์
ขณะที่ ระยะเวลาโอนสิทธิรายได้สุทธิ เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2562 จนถึงวันสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแต่ละโครงการ ซึ่งระยะเวลาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 21-22 ปี นับจากวันที่ 14 สิงหาคม 2562 โดยวันสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าโครงการสุดท้ายจะสิ้นสุดในวันที่ 26 ธันวาคม 2584
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
BBLAM
16 สิงหาคม 2565