ภาพรวมตลาด
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีการประชุมในวันที่ 26 – 27 ก.ค. 2565 เฟดมีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 75bps ต่อเนื่องจากครั้งก่อน โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% – 2.50% ตามคาดการณ์ของตลาด เพื่อการควบคุมเงินเฟ้อให้ลดลงมาอยู่ที่ระดับเป้าหมายที่ 2% พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิมที่ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า โดยขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก พร้อมยอมรับว่าการใช้จ่ายและการผลิตชะลอลง แม้ภาพรวมตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม เฟดประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงสะท้อนความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และภาคอุปทานที่ยังคงอยู่ต่อเนื่องและส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น พร้อมย้ำว่า เฟดยังให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการประชุมวันที่ 21 ก.ค. มีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bps เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปีและเป็นการออกจากดอกเบี้ยติดลบในรอบ 8 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก -0.50% ไปอยู่ที่ 0.00% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 0.25% ไปอยู่ที่ 0.75% และอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations จาก 0.00% ไปอยู่ที่ 0.50% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมต่อไป โดยจะตัดสินใจในแต่ละการประชุมบนพื้นฐานของข้อมูลขณะนั้นเป็นหลัก และอาจไม่ส่งสัญญาณล่วงหน้าถึงระดับในการปรับในรอบต่อไป
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการประชุมวันที่ 20 – 21 ก.ค. มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงการเข้าซื้อพันธบัตรไม่จำกัดที่ 0.25% ด้านมาตรการซื้อสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย BOJ ยืนยันคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และเสถียรภาพในตลาดการเงิน จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยในระยะข้างหน้าประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน ทางด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้จะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตอุปทาน และผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครน ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง และเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปรับลดคาดการณ์ GDP ญี่ปุ่นในปีนี้ลงเหลือ 2.4% จาก 2.9% อย่างไรก็ตาม ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2023 และ ปี 2024 ขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.0% และ 1.3% จาก 1.9% และ 1.1% ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อได้เพิ่มคาดการณ์เป็น 2.3% ในปีนี้ จากเดิมที่ 1.9% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2023 และ 2024 เป็น 1.4% และ 1.3% ตามลำดับ จาก 1.1% จากผลของราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น และการส่งผ่านต้นทุนพลังงานเป็นหลัก
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 3 ปีขึ้นไปปรับลดลงมา และอยู่ในทิศทางเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากนักวิเคราะห์ต่างคาดว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จะติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ประกอบกับบริษัทชั้นนำหลายแห่งต่างออกข่าวการปรับตัวเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้น ท่ามกลางการคาดว่าเฟดจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ +9.1% YOY ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว หรือเกิดภาวะ Inverted Yield Curve ระหว่างรุ่น 2 และ 10 ปีอีกครั้งในเดือนส.ค. ด้านพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 3 ปีขึ้นไปปรับลดลงมา 2 – 44 bps ในขณะที่พันธบัตรระยะสั้นในการประมูลตลาดแรกเริ่มปรับขึ้นตามการคาดการณ์ว่ากนง. จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนส.ค. ซึ่งผลการประชุมกนง. ในเดือนนี้กนง. ได้ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการจัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 คณะกรรมการมีมติ 6:1 เสียง ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% ตามคาด จากปัจจุบันที่ 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 1 เสียง เห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปมุมมอง กนง. ในช่วงถัดไปให้น้ำหนักการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยทำได้ดีอย่างต่อเนื่อง จากแรงขับเคลื่อนของการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว ถือเป็นการใช้มาตรการแบบระมัดระวังต่อ จากัดผลกระทบเชิงลบจากที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ บวกกับมุมมองต่อเงินเฟ้อที่น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น (เริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อไทยชะลอความร้อนแรง และราคาพลังงานในตลาดโลกปรับฐาน) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2022 มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม โดยคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2023 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา
มุมมองด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
กองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง.อาจจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 1 – 2 ครั้ง ภายในสิ้นปี 2565
ด้านตราสารหนี้ไทย
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ปรับตัวลดลงไปในทิศทางเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยอัตราผลตอบแทน 10 ปี ของพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.57% จากระดับ 2.9% ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม
• อัตราดอกเบี้ย ที่แท้จริงของไทย (Real Policy Rate) ติดลบค่อนข้างมาก และมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบ่งชี้ว่าการดำเนินนโยบายถือว่ายังผ่อนคลายอยู่ ดังนั้น การดำเนินนโยบายที่ตึงตัวต่อจากนี้ ยังคงมีความจำเป็น
• ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022 ตราสารหนี้ไทย คาดว่าจะเจอแรงกดดันให้อัตราผลตอบ แทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น โดยดอกเบี้ยนโยบายอาจจะปรับตัวขึ้น 1 – 2 ครั้ง ภายในสิ้นปี 2022
• ด้วยวงจรของการขึ้นดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้น เราน่าจะยังคงเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่เป็นทิศทางขาขึ้น ทำให้กองทุนบัวหลวงยังคงมุมมอง Slightly Underweight
ด้านตราสารหนี้ต่างประเทศ
• ความกังวลทางด้านเงินเฟ้อในตลาดปรับลดลงจากจุดสูงสุดที่เคยทาไว้ในเดือนเมษายน อย่างเช่น Breakeven Inflation 10 ปี มาอยู่ที่ระดับ 2.5% หรือ เงินเฟ้อคาดการณ์ 5 ปีข้างหน้าในอีก 5 ปี (5Y5Y) อยู่ที่ระดับ 2.3%
• ความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอย รุนแรงมากขึ้น เห็นได้จาก ส่วนต่างผลตอบแทน 3 เดือน และ 10 ปี ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 1.15% ช่วงต้นเดือน มาเหลือแค่เพียง 0.25% ในตอนสิ้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และเกือบที่จะเป็น Inverted Curve
• การปรับขึ้นของดอกเบี้ยที่ไม่ได้รุนแรงมากกว่าที่ตลาดคาด, แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่ลดลง, ในขณะที่สัญญาณของเศรษฐกิจอ่อนแอลง ส่งผลให้ตลาดเริ่ม Priced-in ว่า รอบของขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะใกล้จบแล้ว (Peak Hawkishness)
• บลจ. บัวหลวง ยังคงมุมมอง Neutral ในขณะที่มองเป้าหมายของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี สิ้นปี 2022 ที่ 3.35% – 3.6% บลจ. บัวหลวง เชื่อว่าช่วงที่ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมีความผันผวน พันธบัตรรัฐบาลน่าจะสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้
สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท USD/THB
ค่าเงินบาทในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ปิดที่ระดับ 36.68 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับจากสิ้นปีค่าเงินบาทอ่อนค่าประมาณ 10.34% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค (ไม่รวมญี่ปุ่น) และค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่
(+) การผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ ช่วยให้มีความหวังเรื่องการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวในปีนี้
(-) ความกังวลต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
(-) การแข็งค่าของดอลลาร์ฯ จากทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
(-) ความกังวลความเสี่ยงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น นักลงทุนจึงเข้าถือครองดอลลาร์ฯ
(-) กระแสเงินทุนของต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นและตราสารหนี้
(-) บัญชีดุลสะพัดของไทยขาดดุลต่อเนื่องในเดือนมิ.ย.และขาดดุลมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
หมายเหตุ: (+) ส่งผลให้เงิน THB แข็งค่า / (-) ส่งผลให้เงิน THB อ่อนค่า
กลยุทธ์ในการบริหารกองทุน: กองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนมุ่งหวังผลตอบแทนในระยะสั้นถึงปานกลางสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)
• ทั้งนี้ ทีมจัดการลงทุนประมาณการว่า ผลตอบแทนมองไปข้างหน้า 1 ปี หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมน่าจะอยู่ราว 0.5 – 1.6% ต่อปี
Disclaimer: เอกสารนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวได้ และบริษัทฯ อาจเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เอกสารนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน มิได้มีวัตถุประสงค์ชักชวน ชี้นำ ให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจลงทุนทางการเงิน หรือการตัดสินใจในทางธุรกิจแต่อย่างใด ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังและวิจารณญาณจากการใช้ข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดของเอกสารฉบับนี้ ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต