โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM
BBLAM
ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ โดยมีปัจจัยหลักจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นตามไปด้วย ตอนนี้เรียกได้ว่า หันไปทางไหน ข้าวของแพงหมด โดยหลายๆ ประเทศทั่วโลกเลือกที่จะลดปัญหาเงินเฟ้อ ด้วยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (FED) ก็มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% – 1.75% และคาดว่า น่าจะปรับขึ้นไปถึง 3.4% ภายในสิ้นปีนี้ เรียกได้ว่า เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในรอบ 28 ปีก็ว่าได้ นอกจากนี้ ในฝั่งยุโรป ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษหรือสวิตเซอร์แลนด์ ก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน
ในส่วนของไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้แถลงผลการประชุมวันที่ 10 ส.ค.2565 มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากเดิม 0.50% กลายเป็น 0.75% เพื่อชะลอปัญหาเงินเฟ้อให้น้อยลง เป็นการประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะนี้ให้ราบรื่นขึ้นสักเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไทย มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง อย่างกลุ่มที่มีการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แต่กลับต้องมีภาระในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น เพราะการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มักส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
สำหรับการลงทุนในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ผู้ลงทุนอาจต้องพิจารณาปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมตามสถานการณ์ โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยค่อนข้างยาว ในช่วงนี้อาจให้ผลตอบแทนที่ไม่ค่อยดีนัก เมื่อเปรียบเทียบกับตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยสั้น จึงควรพิจารณาปรับลดสัดส่วนการลงทุนลง เนื่องจากตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยสั้น น่าจะได้รับผลบวกจากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนตราสารหนี้นอกจากจะพิจารณาเรื่องอายุเฉลี่ยของตราสารและอัตราผลตอบแทนที่ได้รับแล้ว ควรต้องพิจารณาความเสี่ยงของผู้ออกตราสารด้วย เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า ในช่วงนี้เศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงธุรกิจต่างๆ ค่อนข้างที่จะมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงได้ตลอด
ส่วนการลงทุนในหุ้นก่อนหน้าที่ กนง. จะประกาศเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็มีข่าวแว่วออกมาก่อน จึงทำให้ตลาดตอบรับข่าวดีกันไปแล้วบ้างพอสมควร เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นดีต่อเศรษฐกิจไทย ในแง่ที่ว่าจะช่วยชะลอปัญหาเงินเฟ้อ และนับว่าเป็นการ Take Action ของแบงก์ชาติที่นักลงทุนหลายคนรอคอยมานาน หลังจากที่เห็นนานาประเทศออกนโยบายการเงินมาตลอดปี
ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่มีหุ้นอยู่ในพอร์ต นอกเหนือจากการลงทุนตามเทรนด์โลก ด้านเทคโนโลยีและพลังงานสะอาดแล้ว อาจพิจารณาลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร ประกัน และการแพทย์เพิ่มเติมด้วยได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลบวกจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอาจเพิ่มความมั่นใจด้วยการสะสมการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive Stock ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เติบโตหวือหวา แต่หุ้นกลุ่มนี้มักเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคอย่างเราหลีกเลี่ยงที่จะไม่กิน ไม่ใช้แทบไม่ได้
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ทบทวนสินทรัพย์ในการลงทุนเรียบร้อยแล้ว อย่าลืม! ที่จะทบทวนเป้าหมายในการลงทุนของเราในตอนนี้ด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยาวนาน น่าจะทำให้เป้าหมายหลายๆ อย่างในชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจจะทำให้เราต้องปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมตามเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงด้วย