ตราสารหนี้ไทยยังมีสภาพคล่องสูง

ตราสารหนี้ไทยยังมีสภาพคล่องสูง

Fund Comment เมษายน 2561

มุมมองตลาดตราสารหนี้

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้เคลื่อนไหวผันผวนมาก โดยในช่วงแรกๆ ต่อเนื่องจากเดือนมีนาคมจนถึงกลางเดือนเมษายน จะมีปัจจัยเรื่องความกังวลด้านการทำสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนหลังจากที่ทั้งสองประเทศต่างประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าตอบโต้กันไปมา (Trade war) และสถานการณ์ความไม่สงบในซีเรีย ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐปรับลดลงจากการที่นักลงทุนเข้ามาถือครองสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประเด็น Trade war และความตึงเครียดในตะวันออกกลางผ่อนคลายลง ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาดี และมีการเปิดเผยว่าประธานาธิบดีทรัมป์ ได้แต่งตั้งให้นาย Richard Clarida เป็น Federal Reserve ซึ่งตลาดมีความเห็นว่านาย Richard Clarida เป็นสาย Hawkish ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น รวมทั้งมีความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ อันเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และตัวเลขยอดค้าปลีกที่ปรับตัวขึ้น ประกอบกับการกู้ยืมเพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ จากการขาดดุลงบประมาณ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรุ่นอายุ 10 ปี พุ่งทะลุระดับจิตวิทยาของนักลงทุนที่ 3% ถือเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2014 ขณะที่รุ่นอายุ 2 ปีก็พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ไปอยู่ที่ระดับ 2.5%

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ล่าสุดเมื่อวันที่ 1-2 พฤษภาคม มีมติเป็นเอกฉันท์ 8-0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5-1.75% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ ขณะที่ Fed มีมุมมองต่ออัตราเงินเฟ้อที่ Bullish ขึ้น โดยกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อ เริ่มเข้าใกล้ 2% จากเดิมในการประชุมก่อนหน้าที่กล่าวเสมอว่า “อัตราเงินเฟ้อขยายตัวต่ากว่าเป้าหมายที่2%” บ่งชี้ว่า Fed ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ Fed ยังได้ระบุว่าเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นเกิน 2% (Symmetric 2%) ได้เล็กน้อยในระยะกลาง ซึ่งตลาดตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงความเต็มใจในการปล่อยให้เงินเฟ้อทะลุเป้าหมาย จึงไม่มีความจำเป็นในการเร่งอัตราการขึ้นดอกเบี้ย

ขณะที่ ตราสารหนี้ของไทย ก็ได้รับผลกระทบจากการพุ่งสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนสหรัฐฯและการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งเดือนเมษายน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยอดขายดังกล่าวยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับในภูมิภาค เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย มียอดขายสุทธิประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท และ 4.6 หมื่นล้านบาทตามลำดับ

แนวโน้มตราสารหนี้ไทยในอนาคต คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะยังคงเคลื่อนไหวอย่างผันผวนจากความเสี่ยงในปัจจัยต่างประเทศทั้งเรื่องการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และความขัดแย้งระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กองทุนบัวหลวง มองว่าตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากสภาพคล่องระดับสูงในประเทศที่ช่วยลดความผันผวนจากความเสี่ยงต่างๆ ภายนอกประเทศลงได้