โดย เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP® BBLAM
ตั้งแต่ต้นปี มีนักลงทุนจำนวนมากประสบปัญหาขาดทุนจากปัญหาสงครามรัสเซียยูเครนที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันและสินค้าหลายอย่างราคาสูงขึ้น เกิดปัญหาเงินเฟ้อที่ต่อเนื่องจากฝั่งตะวันตกที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ทำให้หลายประเทศขึ้นดอกเบี้ย และมีการทำกำไรในหุ้นที่ขึ้นมาแรงมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่ม growth
ปัญหาเหล่านี้เป็นวังวนเดิมๆ ที่เราเห็นได้ทั่วไป เวลาตลาดหุ้นขึ้นแรงๆ นักลงทุนคึกคัก ดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาสู่สินทรัพย์เสี่ยง อย่างเช่น หุ้น และน้องใหม่อย่างคริปโต
ไม่ผิดที่เราอยากหาผลตอบแทน แต่สิ่งที่พลาดไปคือ การจัดแบ่งเงิน เงินไหนเสี่ยงได้ เงินไหนควรเซฟ หรือเงินส่วนไหนที่ยอมให้สูญหายได้
2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดทำให้หุ้นหลายกลุ่มเติบโต ผลกำไรดี เพราะเม็ดเงินลงทุนไม่ค่อยมีทางเลือก การท่องเที่ยวเดินทางยังไม่เป็นปกติ ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีผลต่อ GDP ในเกือบทุกประเทศ ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนจึงพุ่งไปยังกลุ่มเทคโนโลยี แพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งก็เป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ๆ ในอเมริกา ทำให้ดัชนีโดยรวมขึ้นตามไปด้วย
และเมื่อโควิดเริ่มจางหาย หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจปกติเริ่มกลับมาเดินเครื่อง เกิดการเดินทางข้ามเมืองข้ามประเทศ ประกอบกับความกังวลเรื่องดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ ทำให้เกิดการขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มเติบโต รวมถึงหุ้นหลายๆ ตัวที่ราคาพุ่งไปเกินปัจจัยพื้นฐาน นักลงทุนสถาบันหันมาถือเงินสดมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะการลงทุนในสถานการณ์ที่ความไม่แน่นอนสูง ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าสภาวะปกติ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่แห่เข้าไปในช่วงตลาดหุ้นพุ่งสูงเกิดปัญหาขาดทุนหนัก ติดดอย
การจัดสรรเงินลงทุนตามเป้าหมายยังเป็นหลักการที่ใช้ได้ตลอด ถ้าเรารู้ว่าเป้าหมายอะไรพลาดไม่ได้ สำคัญมาก เราจะระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น การลงทุนส่วนนี้ควรจัดสรรพอร์ตให้เหมาะสม กระจายความเสี่ยง ไม่ทุ่มให้น้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไป
อีกวิธีหนึ่งที่เรารู้จักกันดี คุ้นเคย แต่ไม่ค่อยโดนใจนักลงทุน คือ มองไม่เห็นผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำเหมือนทุ่มซื้อสินทรัพย์เสี่ยงใน 2 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย หรือ DCA เราจัดสรรเงินเย็นที่ตั้งใจลงทุนยาวๆ แล้วตัดซื้อรายเดือน ไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง ทำให้ราคาต้นทุนของกองทุนที่ได้จะเป็นราคาที่เฉลี่ยๆ ไม่แพงเกินไป
หลายคนจะกังวลเวลา DCA แล้วราคากองทุนไม่ไปไหน หรือราคาซึมๆ ลดลงเรื่อยๆ ต้องอย่าลืมครับว่า ตอนนี้ คือ เวลาที่เราซื้อ เราต้องการราคาต่ำๆ ดังนั้น ไม่ต้องกังวล ถ้ากองทุนที่เราเลือกนั้นถูกต้องแล้ว
ถ้าเราเลือกกองทุนที่ถูกต้อง มีนโยบายลงทุนตามเมกะเทรนด์ที่เราเชื่อ ไว้ใจได้ยาวๆ เลือกกองทุนที่ให้ความสำคัญกับพื้นฐานธุรกิจมากกว่าผลกำไรจากราคาหุ้น ก็เหมือนเราร่วมลงทุนกับกิจการที่ค่อยๆ เติบโต วิธี DCA ก็จะแก้ปัญหาการเข้าซื้อเป็นรายครั้งที่มักจะเกิดขึ้นเวลาตลาดหุ้นดีๆ จะมีเรื่องราวต่างๆ ดึงดูดให้เราลงทุนโดยเฉพาะผลตอบแทนในอดีตระยะสั้นๆ ที่เย้ายวนใจ และเกิดปัญหาอย่างที่เกิดขึ้นในปีนี้
กล่าวโดยสรุปเลย อยากให้ทุกคนก่อนจะลงทุน ลองย้อนกลับไปดูเป้าหมาย ดูความสำคัญ และพยายามกระจายการลงทุน กำหนดกรอบให้ชัดว่า เงินก้อนไหนเสี่ยงได้ ก้อนไหนเสี่ยงไม่ได้ และพิจารณาการทำ DCA สำหรับการลงทุนระยะยาว ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดทุนจากต้นทุนที่สูงเกินไปได้ครับ