เมืองผู้ดีเตรียมควักแสนล้านปอนด์กระตุ้นเศรษฐกิจ

เมืองผู้ดีเตรียมควักแสนล้านปอนด์กระตุ้นเศรษฐกิจ

นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร เตรียมประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่าแสนล้านปอนด์ เพื่อช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าจะลดภาษี และทบทวนการจัดเก็บภาษีลาภลอยจากกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยรัฐจะกู้เงินเพื่อนำมาสนับสนุนมาตรการนี้ อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์แสดงความกังวลว่าในระยะยาว ประชาชนผู้เสียภาษีจะกลายเป็นผู้แบกรับภาระหนี้แทน

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่นี้ คาดว่าจะช่วยตรึงค่าพลังงานในครัวเรือนไว้ที่ระดับปัจจุบัน หรือที่ระดับ 2,500 ปอนด์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้เพิ่มเพดานค่าพลังงานในครัวเรือนเป็น 3,549 ปอนด์ต่อปี จาก 1,971 ปอนด์ต่อปี ซึ่งปรับตัวขึ้นกว่า 80%

นางทรัสส์ กล่าวหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรว่า สิ่งแรกที่จะทำ คือ จัดการปัญหาราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย บุกยูเครนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจแก่ชาวบริติชว่า จะมีพลังงานเพียงพอตลอดฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

มาตรการเตรียมประกาศอย่างเป็นทางการหลังชาวสหราชอาณาจักรกว่า 170,000 คน วางแผนจะไม่จ่ายบิลค่าไฟฟ้าในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อประท้วงที่รัฐบาลปรับขึ้นเพดานค่าพลังงานในครัวเรือน นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า วิกฤติพลังงานในปัจจุบัน หากรัฐบาลไม่ออกมาตรการเยียวยาใดๆ อาจทำให้ชาวบริติชกว่า 12 ล้านครัวเรือนไม่สามารถแบกรับภาระค่าไฟฟ้าในช่วงฤดูหนาวนี้ได้

ณ ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่าแสนล้านปอนด์จะมีความช่วยเหลือใดบ้าง อย่างไรก็ดี ธนาคารดอยซ์แบงก์คาดว่า งบประมาณสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้ อาจสูงถึงสองแสนล้านปอนด์ โดยความช่วยเหลือนี้อาจครอบคลุมไปถึงธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น

ธนาคารดอยซ์แบงก์ระบุว่า งบประมาณแสนล้านปอนด์นี้คิดเป็นแค่ครึ่งหนึ่งของเงินเยียวยา และเงินสนับสนุนที่ใช้ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคิดเป็น 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเท่านั้น

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนางทรัสส์ ค่อนข้างมีความใกล้เคียงกับร่างที่พรรคแรงงานเสนอเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จุดต่างที่ชัดเจน คือ พรรคแรงงานเสนอให้รัฐนำงบประมาณมาจากการจัดเก็บภาษีลาภลอยจากกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนางทรัสส์ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดี นางทรัสส์ กล่าวว่า จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาเติบโตอีกครั้ง ภายใต้นโยบายการปฏิรูปและลดภาษี

อย่างไรก็ดี มีนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนแสดงความกังวลว่า การที่งบประมาณสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่จะมาจากการกู้ยืมเงิน อาจส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในระยะยาว โดยหัวหน้านักวิเคราะห์ของธนาคารแซกโซ มองว่า การที่มาตรการนี้ที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล เมื่อวิกฤติคลี่คลายลง จึงมีแนวโน้มที่รัฐจะกลับมาขึ้นภาษีอีกครั้ง แน่นอนว่า ในระยะสั้นมาตรการนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าไฟฟ้าและพลังงานที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อมองในระยะยาวแล้ว ผลกระทบจะตกสู่คนที่เสียภาษี และการชำระหนี้คืนก็อาจใช้เวลาหลายชั่วอายุคน

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ยังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ถึงแม้วิกฤติพลังงานจะสามารถคลี่คลายในฤดูหนาวนี้ได้ แต่ปัญหาค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในหน้าหนาวถัดๆ ไป

ที่มา: ซีเอ็นบีซี