ราคาอสังหาฯ ในเอเชียชะลอตัว ผลกระทบดอกเบี้ยขาขึ้น

ราคาอสังหาฯ ในเอเชียชะลอตัว ผลกระทบดอกเบี้ยขาขึ้น

ผลสำรวจของ “ไนท์แฟรงค์” เผยราคาอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศแถบเอเชีย รวมทั้งจีน กำลังชะลอตัวลง จากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น

บริษัท ไนท์แฟรงค์ สำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ 56 แห่งทั่วโลก พบว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ ในตลาด 7 แห่งปรับตัวลดลง สวนทางกับภาพรวมราคาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยทั่วโลกนั้น ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 แต่ขณะเดียวกันก็พบว่า ราคาที่พักอาศัยใน 7 ประเทศกลับสวนทางปรับตัวลดลง ซึ่ง 6 ใน 7 ประเทศและเขตแดนดังกล่าวอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนี้

  1. นิวซีแลนด์ ราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย ปรับตัวลง 3.0%
  2. มาเลเซีย ปรับตัวลดลง 2.0%
  3. ออสเตรเลีย ลดลง 0.7%
  4. จีน ลดลง 0.5%
  5. เกาหลีใต้ ลดลง 0.4%
  6. ฮ่องกง ลดลง 0.4%
  7. โมรอคโค ลดลง 0.3%

ส่วนราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยทั่วโลกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.6% อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีที่แล้ว (2564) ซึ่งราคาปรับตัวขึ้นถึง 6.2%

รายงานการสำรวจของไนท์แฟรงค์ ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยชะลอตัวลง

ในเวลาไล่เลี่ยกันก่อนหน้านี้ ยังมีการสำรวจความคิดเห็นจากนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ นักวิเคราะห์พากันแสดงความเป็นห่วงตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนในปีนี้ที่คาดว่า ราคาบ้านพักอาศัยจะร่วงหนัก เนื่องจากผู้ซื้อบ้านยังคงมีความไม่ไว้วางใจ ผลสืบเนื่องตามมาก็คือ ยอดขายอสังหาริมทรัพย์จะลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ คาดว่า ราคาบ้านใหม่ในจีนจะลดลง 1.4% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์ได้ประเมินไว้ว่า ราคาบ้านจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในปีนี้

ในขณะที่ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ของจีนในภาพรวมมีแนวโน้มจะร่วงลง 24.5% ซึ่งมากกว่าผลสำรวจเมื่อเดือนพ.ค. ที่มองว่าจะลดลงเพียง 10%

ทั้งนี้ ผลสำรวจชี้ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า (2566) แนวโน้มสถานการณ์จะดีขึ้นบ้าง โดยราคาบ้านใหม่ในจีนคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี สวนทางกับยอดขายซึ่งคาดว่าจะลดลง 15% เนื่องจากความต้องการที่ยังคงซบเซา

ที่มา: รอยเตอร์