โดย อรพรรณ บัวประชุม CFP®
สำหรับใครที่อยากจะเก็บเงิน อยากจะลงทุนเก็บไว้สำหรับใช้หลังเกษียณ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องลงทุนเท่าไหร่ ใช้เวลานานแค่ไหน และต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ เพราะนับวันเงินเฟ้อยิ่งสูงทะลุทะลวงขึ้นไปทุกที ก็อย่าได้ตกอกตกใจกันไปค่ะ
หากปัจจุบัน อายุเราอยู่ที่ 30 ปี คาดว่า หลังเกษียณใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท น่าจะพอใช้ (ถ้าใครอยากเพิ่มมากกว่านี้ ก็คำนวณตัวเลขเพิ่มได้ค่ะ) ก็มาลองคำนวณกันว่า ต้องมีเงินก้อนเท่าไหร่ ซึ่งมูลค่าเงินปัจจุบัน 30,000 บาทในวันนี้ อีก 30 ปี จะต้องใช้เงินเท่ากับ 73,705.27 บาท ถ้าคำนวณเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ต้องมีตอนอายุ 60 ปี เท่ากับว่า ณ วันนั้น เราจะต้องมีเงินก้อนจำนวน 26,553,897.20 บาท จึงจะเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณไปอีก 30 ปี เรียกง่ายๆ ว่ามีเงินใช้เดือนละ 30,000 บาท ด้วยมูลค่าปัจจุบัน ไปจนถึงอายุ 90 ปีนั่นเอง ซึ่งการที่เราจะลงทุนให้ได้เงินก้อนจำนวนนี้จะว่าง่ายก็ไม่ง่าย แต่ไม่ยากเกินความสามารถของเราค่ะ
สำหรับใครที่รับความเสี่ยงได้สูงสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 10% ต่อปี และลงทุนเท่าๆ กันทุกเดือนเป็นเวลา 360 เดือน (30 ปี) ก็ใช้เงินลงทุนเพียงเดือนละ 11,738.13 บาทเท่านั้น หรือหากรับความเสี่ยงได้น้อยหน่อย ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 8% ก็ต้องใช้เงินลงทุนเดือนละ 17,803.69 บาททุกเดือน ก็สามารถบรรลุเป้าหมายเกษียณได้ง่ายๆ แต่ว่าอายุ 30 ปี รายได้เราอาจจะไม่ได้เยอะขนาดที่จะนำมาลงทุนได้แบบนี้ หากลงทุนด้วยเงินเท่านี้ เป้าหมายอื่นๆ คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เราลองใช้วิธีทยอยลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะอนาคตรายได้ของเราก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นได้เหมือนกัน
โดยเริ่มทยอยลงทุนเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี ถ้าดูจากอายุ ก็คือ อายุ 31 ถึงอายุ 35 ปี ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้โอกาสได้รับผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปี เท่ากับว่า เมื่อครบ 5 ปี เงินเราจะเติบโตเป็น 387,185.36 บาท หลังจากนั้นก็ยังลงทุนต่อโดยเพิ่มเงินลงทุนเป็น 10,000 บาท ไปอีก 5 ปี เมื่อครบ 5 ปีแล้วก็เพิ่มเงินลงทุนเป็น 20,000 บาท ไปอีก 5 ปี และเพิ่มเงินลงทุนเป็น 30,000 บาทไปอีก 5 ปี รวมการลงทุนเป็นเวลา 20 ปี ที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี เมื่อถึงตอนนั้น เงินเราจะเติบโตมาถึง 8,692,016.41 บาท ก็อย่าเพิ่งหมดหวังกันไปค่ะ ถึงตอนนี้ อายุเราก็ 50 ปีแล้ว ส่วนการลงทุนในช่วง 10 ปีสุดท้ายเราก็มาลดความเสี่ยงจากการลงทุนกันค่ะ
ช่วงอายุ 51-55 ปี ยังคงเพิ่มเงินลงทุนเป็นลงทุนเดือนละ 40,000 บาทต่อเดือน แต่ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 8% ต่อปี และช่วงโค้งสุดท้าย คือ ช่วงอายุ 56-60 ปี เพิ่มเงินลงทุนเป็นเดือนละ 50,000 บาท แต่เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเหลือประมาณ 6% ซึ่งเงินก้อนที่เราลงทุนมาก่อนหน้านั้นก็ปรับลดอัตราผลตอบแทนที่ลงทุนกันด้วยนะคะ สุดท้ายเมื่ออายุครบ 60 ปี เงินก้อนที่เราลงทุนมาจะได้ประมาณ 24,920,162.41 บาท แม้ว่าจะยังขาดจากที่เราต้องการที่จำนวนเงิน 26,553,897.20 บาท อยู่ถึง 1,633,734.79 บาท ก็อย่าเพิ่งกังวลใจกันไปค่ะ ซึ่งเงินที่เราลงทุนมาแล้ว หลังจากเกษียณยังคงต้องนำไปลงทุนต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 3% ต่อปี หากนำบางส่วนมาลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี ก็จะทำให้เงินเติบโตงอกเงยเพิ่มหลังเกษียณได้ค่ะ
สำหรับใครที่อายุน้อยกว่า 30 ปี เห็นแบบนี้แล้วอย่าเพิ่งท้อใจกันไปนะคะ ยิ่งเรามีเวลาลงทุนมากกว่า ก็ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าค่ะ หรืออยากจะลงทุนเท่ากัน และช่วงอายุก่อน 30 ปี ก็ทยอยลงทุนเข้าไปก่อน ก็จะยิ่งทำให้มีโอกาสได้เงินก้อนก่อนเกษียณสูงกว่าค่ะ
ทั้งนี้ การลงทุนที่จะได้โอกาสได้รับผลตอบแทนสูงถึง 10% ต่อปีนั้น แน่นอนว่าต้องมีความเสี่ยงสูงด้วย และด้วยระยะเวลาลงทุนที่ยาวนาน หากเลือกการลงทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม อย่างเช่น การลงทุนในกองทุนรวม RMF หรือ SSF จะยิ่งได้ผลประโยชน์มากขึ้น ซึ่งสามารถนำผลประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีมาลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนเปิดทั่วไป หรือเพิ่มการลงทุนในกองทุนรวม RMF SSF ในปีถัดๆ ไป ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นได้ค่ะ ซึ่งกองทุนรวม RMF และ SSF แนะนำนั้น อย่างเช่น B-INNOTECHRMF, B-INNOTECHSSF, B-SIPRMF, B-SIPSSF, B-CHINAARMF, B-CHINESSF สามารถทยอยลงทุนกันได้ค่ะ ที่สำคัญ อย่าลืมศึกษาเงื่อนไขทางภาษีก่อนลงทุนด้วยนะคะ