BBLAM Economic Update: UK: BoE ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวเป็นการชั่วคราว หวังลดความผันผวนของตลาด

BBLAM Economic Update: UK: BoE ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวเป็นการชั่วคราว หวังลดความผันผวนของตลาด

BoE ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวเป็นการชั่วคราว หวังลดความผันผวนของตลาด หลังปอนด์อ่อนค่าแรง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลพุ่งสูง

ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) เตรียมเข้ามาพยุงตลาดเงินตลาดทุนให้มีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นักลงทุนหมดความเชื่อมั่นในเงินปอนด์ และพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ เห็นได้จากการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของปอนด์ จนอยู่ในระดับที่น้อยที่สุดในรอบ 37 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ ขณะเดียวกันก็เกิดแรงเทขายในพันธบัตร ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ (Gilt) ปรับตัวขึ้นสูง จนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปี สูงเกินกว่าของอิตาลี และกรีซ ทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ใช้งบประมาณขนาดใหญ่ อาทิ นโยบายลดภาษีครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 1972 จนทำให้ผู้คนต่างกลัวว่าจะกระทบกับสถานะทางการคลังของอังกฤษ รวมทั้งมาตรการดังกล่าวยังทำให้เงินเฟ้อยิ่งเพิ่มสูงขึ้น จากที่ตอนนี้ก็แตะ 10% YoY แล้ว นักลงทุนจึงกังวลว่า BoE จะต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแรงๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง

เมื่อวานนี้ BoE จึงประกาศจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (อายุ 20 ปีขึ้นไป) อย่างไม่จำกัด โดยเบื้องต้น วางแผนจะเข้าซื้อวันละ 5 พันล้านปอนด์ และทำเป็นการชั่วคราวประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น ตั้งแต่วันนี้ถึง 14 ต.ค. โดยจะเลื่อนการทำ QT ออกไปก่อนจนถึงวันที่ 31 ต.ค. จากที่ตอนแรกมีกำหนดเริ่มต้นในสัปดาห์หน้า ส่งผลให้เงินปอนด์แข็งค่าจากระดับ 1.05 เป็น 1.09 ดอลลาร์ฯ ต่อปอนด์ ในขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงแต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงจาก 4.0% มาอยู่ที่ระดับ 3.7% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปี ปรับตัวลดลงกว่า 1%


ทั้งนี้ เรามองว่าการประกาศแทรกแซงในครั้งนี้ของ BoE มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดความผันผวนของตลาดลง และหวังว่าจะช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤติการเงินในอังกฤษ ท่ามกลางท่าทีของ BoE ที่จะยังคงดำเนินการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไป ซึ่งตอนนี้ตลาดน่าจะรอดูขนาดของการเข้าซื้อของพันธบัตรในช่วง 2 สัปดาห์หลังจากนี้ และมีความเป็นไปได้ที่ BoE จะขยายเวลาการเข้าซื้อออกไปอีกหลังจากวันที่ 14 ต.ค. เพื่อสร้างเสถียรภาพและเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้มากขึ้น นอกจากนี้แล้ว นักลงทุนยังจับตาดูแผนการรักษาเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาล ว่ามีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน โดยหากมองว่าทำได้ยาก ก็ยังเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอยู่ รวมทั้งทิศทางการแข็งค่าของดอลลาร์ฯ ก็ยังคงเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินปอนด์อยู่ จนเราอาจจะได้เห็นปอนด์ในระดับเดียวกับดอลลาร์ฯ ที่ 1 ดอลลาร์ฯ ต่อปอนด์ในเร็วๆ นี้ก็เป็นได้