BF Knowledge Tips: เงินบาทอ่อน…ลงทุนไปแล้วรับมือยังไงดี?

BF Knowledge Tips: เงินบาทอ่อน…ลงทุนไปแล้วรับมือยังไงดี?

โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM

ตอนนี้ ค่าเงินบาทไทย  เรียกได้ว่าอ่อนค่าที่สุดในรอบ  16  ปี    โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 37 บาทจนทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว    สาเหตุหลักก็มาจากมาตรการด้านการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง    โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างเข้มข้น   ตามที่ เจอโรม พาวเวลล์  ประธานเฟด ได้ประกาศไว้ว่า  “คณะกรรมการเฟดกำลังทำงานกันอย่างเต็มที่   เพื่อลดเงินเฟ้อลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%  และจะทำจนกว่าสำเร็จให้ได้”    นับว่าเป็นการส่งสัญญาณเอาจริง   และยอมรับผลที่อาจจะตามมา   ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย  ปัญหาหนี้สินธุรกิจ ปัญหาหนี้สินครัวเรือน จากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่อ้างอิงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย   รวมถึงปัญหาว่างงานที่อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฟดเชื่อว่า  เป็นการคุ้มค่าที่จะแลก เพราะถ้าหากปล่อยให้เงินเฟ้อยาวนานกว่านี้  อาจจะแก้ไขไม่ได้จนส่งผลร้ายแรงมากกว่า

สถานการณ์ในตอนนี้  สำหรับนักลงทุน  คาดว่าน่าจะกังวลใจอยู่ไม่น้อย  เพราะไม่รู้และไม่แน่ใจว่าควรต้องปรับพอร์ตลงทุนยังไงดี?   เนื่องจากสินทรัพย์ในการลงทุนหลายๆ อย่างในช่วงนี้  โดยเฉพาะหุ้น ไม่ว่าจะเป็น หุ้นไทย  หรือหุ้นต่างประเทศ   ต่างให้ผลตอบแทนที่ติดลบ  ในส่วนของการลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้เอง  แม้ว่าจะให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก  แต่เมื่อเทียบกับผลตอบแทนในช่วง 10 ปีกว่าที่ผ่านมาก็จะพบว่าให้ผลตอบแทนไม่มากนัก  ทำให้ภาพรวมพอร์ตการลงทุนของเราในตอนนี้  ไม่ค่อยจะสดใสอย่างที่คาดหวังไว้

โดยสิ่งสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนอย่างเรา สามารถผ่านสถานการณ์นี้ไปได้  นั่นคือ “การทำความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น – ทบทวนเป้าหมายในการลงทุน – ตั้งรับปรับพอร์ต – อดทนรอคอย” ซึ่งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก  รวมถึงเศรษฐกิจไทยในตอนนี้    เราต้องเข้าใจว่า  ปัจจัยสำคัญเกิดจากนโยบายการเงินของสหรัฐ   และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ    รวมถึงช่องว่างที่เป็นความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว  และประเทศกำลังพัฒนา  ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันไป   หรือจะเป็นความยืดเยื้อของปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น   สถานการณ์ต่างๆ นี้  ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในทุกสินทรัพย์   ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า  ในช่วงที่ผ่านมา  ถ้าไม่นับช่วงพีคของตลาดหุ้นเทคโนโลยีในช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ  ก็แทบจะไม่มีสินทรัพย์ลงทุนอะไรเลยที่ให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างโดดเด่น ดังนั้น  สิ่งต่อมาที่นักลงทุนควรทำคือ  ทบทวนเป้าหมายในการลงทุน  เพราะเป้าหมายบางอย่างอาจไม่ได้เป็นเป้าหมายสำคัญของเราอีกต่อไป   เราก็อาจพิจารณายกเลิกเป้าหมายนั้น   เพื่อนำเงินไปจัดสรรรลงทุนในเป้าหมายใหม่แทน    หรือถ้าหากทบทวนแล้วพบว่า  เป้าหมายของเรายังคงเดิม    แต่ด้วยสถานการณ์ลงทุนที่เปลี่ยนไป  ก็อาจจะทำให้เราต้องปรับสัดส่วนพอร์ตลงทุนใหม่   รวมถึงประเมินผลตอบแทนคาดหวังของพอร์ตลงทุนนั้นใหม่อีกครั้ง

สำหรับการลงทุนในช่วงนี้  การลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้  นับว่ามีความน่าสนใจ   แม้ว่าจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่หวือหวาหรือมากพอที่จะชนะเงินเฟ้อ    แต่ก็เป็นการลงทุนที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจได้บ้างในช่วงนี้   เพราะสามารถประมาณการณ์ผลตอบแทนในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง  และมีความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาค่อนข้างน้อย   เมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ลงทุนอื่น       ส่วนการลงทุนในหุ้นไทยคาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนต่างชาติขายคืน   เพราะค่าเงินบาทอ่อน  ทำให้แลกคืนกลับเป็นสกุลเงินดอลลาร์ได้น้อยลง     แต่ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทย   ในการเข้าซื้อหุ้นไทยที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและราคาย่อมเยา    แต่ก็อย่างที่เราทราบกันดีว่า  คงต้องถือครองยาวอย่างน้อยๆ สัก  5  ปี  เพื่อรอให้ภาคธุรกิจได้ปรับตัว  และรอให้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวกลับมาคึกคักอีกครั้ง   ส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ  ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวม  ที่ผ่านมา ก็มักเป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและเฮลธ์แคร์ในตลาดหุ้นฝั่งสหรัฐฯ    ซึ่งนับจากนี้  ก็น่าจะยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้อีกตามเทรนด์โลก  แต่อัตราการเติบโตอาจไม่ได้หวือหวาอย่างที่ผ่านมา     ดังนั้น  เราจึงควรปรับลดความคาดหวังจากผลตอบแทนในพอร์ตลงทุนของเราด้วย

ปิดท้ายด้วยการวัดความเข้มแข็งทางจิตใจของนักลงทุน นั่นคือ  การรอคอย   เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในตอนนี้    บอกได้เลยว่าค่อนข้างใช้ระยะเวลานานกว่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่งสำหรับนักลงทุนคนรุ่นใหม่  อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับการรอคอย   แต่สำหรับนักลงทุนที่มีประสบการณ์เราผ่านเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้มาหลายครั้ง    และก็อย่างที่เราบอกกันเสมอว่า  “ทุกวิกฤตมีโอกาสในการลงทุน”   และรางวัลมีสำหรับคนที่เข้าใจ  ปรับตัว  และอดทนรอคอยได้เท่านั้น