หลังจากหลายประเทศเริ่มใช้นโยบายอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 เปิดพรมแดน อนุญาติให้ผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กันได้ ล่าสุดเว็บไซต์ข่าวซีเอ็นบีซี รายงานวานนี้ (11 ต.ค.) ว่า เที่ยวบินจำนวนมาก ที่ถูกยกเลิกระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เริ่มกลับมาดำเนินการอย่างคึกคัก อีกครั้งในเดือนต.ค.นี้
เริ่มจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส และสกู๊ต ประกาศเพิ่มเที่ยวบินหลายสิบเที่ยวไปยังเมืองต่างๆ ทั่วเอเชีย เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและการจำกัดพรมแดนที่เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น โดยสายการบินทั้งสองแห่งประกาศเพิ่มเที่ยวบินระหว่างสิงคโปร์และญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันมากขึ้น
สายการบินสกู๊ตเปิดบริการเที่ยวบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวไปยอกยาการ์ตาและเปกันบารู ในเดือนต.ค.หลังจากเที่ยวบินส่วนใหญ่สามารถกลับมาให้บริการได้เต็มที่แล้ว แต่สกู๊ตเพิ่มเส้นทางใหม่ 2-3 เส้นทางในเดือนนี้ โดยจะเริ่มบินจากสิงคโปร์ไปยังลอมบอกและมากัสซาร์ ประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้งสายการบินสกู๊ตยังเพิ่มเที่ยวบินแบบไม่แวะพักตามฤดูกาลไปยังซัปโปโรด้วย
สายการบินทั้งสองแห่งกำลังเตรียมพร้อมเพื่อเพิ่มเที่ยวบินไปจีน สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส โดยเปิดบริการสู่กรุงปักกิ่ง ในเดือนก.ย. ในเดือนนี้ ก่อนจะเริ่มบินไปเฉิงตู และให้บริการเที่ยวบินไปเสิ่นเจิ้น ซึ่งที่ผ่านมา สายการบินให้บริการไปเมืองต่างๆ ของจีนแล้ว 4 เมือง โดยมีเที่ยวบินไปอู่ฮั่นและเจิ้งโจว ซึ่งจะเริ่มในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม สกู๊ตไม่ใช่ผู้ให้บริการสายการบินประหยัดเพียงแห่งเดียวที่เพิ่มเที่ยวบินในภูมิภาค สายการบินเซบู แปซิฟิก ก็เริ่มให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศ เส้นทางแรกจากดาเวาไปสิงคโปร์ในเดือนนี้ และสายการบินแอร์เอเชีย ก็กลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย หลายเที่ยวบิน รวมถึงเส้นทางใหม่ ที่เชื่อมบาหลีไปยังปีนัง
ส่วนสายการบินฮ่องกง เอ็กซ์เพรส ประกาศแผนจะเพิ่มเที่ยวบินมากกว่า 400 เที่ยวบินในเส้นทางบินฮ่องกง-สิงคโปร์ กรุงเทพฯ และเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่นก่อนสิ้นปีนี้
แต่มีประเด็นที่คาใจผู้โดยสารจำนวนมากว่า ในเมื่อสายการบินให้บริการเที่ยวบินมากขึ้น ตั๋วเครื่องบินมีราคาถูกลงหรือไม่? เรื่องนี้ “เจมส์ มาร์แชลล์” รองประธานฝ่ายการบินทั่วโลกของเอ็กซ์พีเดีย กรุ๊ป กล่าวกับรายงาน Squawk Box Asia เมื่อ วันจันทร์ (10 ต.ค.) ว่า ทางเลือกเที่ยวบินที่จำกัดสำหรับนักเดินทางในเอเชียเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาค่อนข้างสูง
“ความเป็นจริงที่ว่าสายการบินกำลังเพิ่มปริมาณความจุนั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่การเคลื่อนไหวนี้จะช่วยให้ราคาตั๋วโดยสาร ในขณะนี้ถูกลงหรือหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถบอกได้” มาร์แชลล์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งคือ อุตสาหกรรมการบินยังคงต่อสู้กับการขาดแคลนบุคลากร โดยสมาคมลูกเรือของฮ่องกง ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพที่เป็นตัวแทนนักบินของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก เตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เนื่องจาก ขาดพนักงาน ทำให้ค่าโดยสารจะยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณเที่ยวบินน้อย ประกอบกับความต้องการสูง
ปัญหาขาดแคลนพนักงานทำให้เกิดความวุ่นวายในการเดินทางในยุโรปและอเมริกาเหนือเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว ซึ่งเป็นปัญหาที่สายการบินในเอเชียไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
“สายการบินในเอเชียแปซิฟิกระมัดระวังอย่างมากในการบริหารจัดการ และพยายามตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขามีพนักงานในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้จบลงด้วยปัญหาการดำเนินงานที่เราเคยเห็นในภูมิภาคอื่นๆ” มาร์แชลล์ กล่าว
ปัญหาขาดแคลนแรงงานไม่ได้เกิดขึ้น ในอุตสาหกรรมการบินเท่านั้น แม้แต่ในญี่ปุ่น ที่กำลังจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ ก็เจอปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจการท่องเที่ยวเช่นกัน จึงอาจทำให้การให้บริการในช่วงแรก ยังไม่สามารถทำได้แบบ 100%
ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวญี่ปุ่นกำลังเจอปัญหาขาดแคลนพนักงาน เพื่อเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมา หลังจากที่ญี่ปุ่นจะเปิดรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.เป็นต้นไป ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ครบสามเข็ม ไม่ต้องกักตัวหรือตรวจหาเชื้อโควิดเมื่อ เดินทางเข้าญี่ปุ่นอีกต่อไป
ถือเป็นข่าวดีสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่ซบเซามานานหลายปี แต่กลายเป็นว่า ขณะนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวในญี่ปุ่นกลับขาดแคลนพนักงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องอย่างมาก
ธนาคารเทโคคุ ระบุว่า การขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่นเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิด และทุกอุตสาหกรรมล้วนเจอปัญหาเดียวกัน แต่ธุรกิจโรงแรมเจอปัญหานี้รุนแรงที่สุด โดยข้อมูลล่าสุด เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า โรงแรมทั่วญี่ปุ่น 72.8% มีพนักงานไม่เพียงพอ ต่อการให้บริการแขกที่เข้าพัก
ที่มา: ซีเอ็นบีซี