โดย อรพรรณ บัวประชุม CFP®
จะรีบไปไหน จะรีบไปไหน คำถามของคนหนุ่มสาวที่เพิ่งก้าวเข้าสู่การทำงาน จะเร็วไปมั้ยกับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ยังมีเวลาลงทุนอีกตั้งหลายปี ต้องเริ่มตอนนี้เลยเหรอ รอก่อนดีกว่าหรือเปล่า?
หลากหลายคำถาม หลากหลายข้อสงสัย ที่ถามกันเข้ามา โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนรวม RMF ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ว่า จำเป็นมั้ยที่จะต้องลงทุน บอกได้เลยค่ะ ถ้าทำงานแล้วมีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ไม่เร็วไปหรอกค่ะ สำหรับการเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม RMF นั่นเป็นเพราะ หากยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี คงไม่มีใครแนะนำการลงทุนในกองทุนรวม RMF ให้อย่างแน่นอน เต็มที่ก็จะแนะนำในกองทุนเปิดทั่วไป เพราะจะได้ไม่ติดข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาการลงทุน ระยะเวลาการถือครอง ซึ่งต้องลงทุนตามเงื่อนไขจึงจะสามารถได้สิทธิทางภาษี
ดังนั้น หากทำงาน มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ถ้าใครไม่รู้ว่าต้องเสียภาษีหรือยัง ง่ายๆ เลย สำหรับใครที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีมากกว่า 317,200 บาทในปีภาษี 2565 หรือเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 26,433 บาท โดยไม่มีการลงทุนหรือตัวช่วยลดหย่อนภาษีใดๆ ก็จะเริ่มเสียภาษีกันแล้ว กองทุนที่ควรนึกถึงกองทุนแรกๆ ก็คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF เพราะนอกจากลงทุนเพื่อช่วยประหยัดภาษีแล้ว ยังทำให้เรามีวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และยังเป็นการสะสมไว้สำหรับเกษียณด้วย เรียกได้ว่าได้ประโยชน์หลายอย่าง และยังมีหลากหลายนโยบายให้เราเลือกลงทุนได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนในกองทุนเดิมด้วยจำนวนเงินเท่าเดิมทุกปี ปีไหนที่มีรายได้สูงขึ้น ก็สามารถลงทุนมากขึ้นได้ถึง 30% ของเงินได้ทั้งปี แต่จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับการลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพที่บริษัทเรามี (Provident Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) แล้วก็ต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วยเช่นกันค่ะ
ซึ่งเลือกลงทุนในกองทุนรวม RMF เมื่อมีเงินได้และเสียภาษี หากเราเลือกไม่ถูกว่าจะลงทุนกองทุนไหนดี แนะนำให้ประเมินความเสี่ยงที่เรารับได้ก่อน ว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยขนาดไหน และค่อยเลือกนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่รับได้ หากไม่อยากเลือกลงทุนหลากหลายกองทุน การเลือกการลงทุนแบบผสมผสานอย่าง BMAPSRMF ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีให้เลือกถึง 3 กองทุน ตามสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ใครที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงต่ำ BMAPS25RMF ก็เป็นทางเลือกการลงทุนที่ดี ส่วนใครที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง BMAPS55RMF ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ส่วนใครที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก BMAPS100RMF ก็ตอบโจทย์การลงทุนได้ นอกจากนี้ การลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยการใช้ Dollar Cost Average (DCA) เป็นเครื่องมือช่วยตัดเงินจากบัญชีเงินฝากเข้าบัญชีลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่เราเลือกเอาไว้ เป็นประจำ จะช่วยให้เราไม่ลืมการลงทุน และต้นทุนที่ได้จะเป็นต้นทุนถัวเฉลี่ยสำหรับการลงทุนระยะยาวด้วย
“การลงทุนไม่มีคำว่าเร็วเกินไป มีแต่คำว่าสายเกินไป” เพราะหากเรายิ่งเริ่มลงทุนช้า โอกาสที่เงินจะเติบโตก็จะช้าตามไปด้วย “ยิ่งเริ่มลงทุนได้เร็ว ยิ่งมีโอกาสมีอิสรภาพทางการเงินได้เร็วค่ะ”